พิธีขึ้นครองราชย์สมบัติของจักรพรรดิองค์ใหม่ญี่ปุ่น (คลิป)

2019-05-01 11:25:53

พิธีขึ้นครองราชย์สมบัติของจักรพรรดิองค์ใหม่ญี่ปุ่น (คลิป)

Advertisement


พิธีขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น เรียบง่ายตามขนบธรรมเนียม




พิธีขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโต พระจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นในวันพุธ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี ที่สมเด็จพระจักรพรรดิขึ้นครองราชย์หลังการสละราชสมบัติ โดยอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยพิธีการรวบรัดและเรียบง่าย หลังขึ้นครองราชย์ยาวนาน 30 ปี ซึ่งพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำรัสขอบคุณประชาชนชาวญี่ปุ่น และทรงอธิษฐานให้เกิดสันติสุข







ส่วนแรกของพระราชพิธีขึ้นครองราชย์สมบัติ ซึ่งจัดขึ้นที่พระที่นั่งต้นสน ในเขตพระราชวังอิมพีเรียล เริ่มต้นขึ้นในเวลา 10.15 น.ของวันพุธตามเวลาในญี่ปุ่น หรือตรงกับ 08.15 น.ตามเวลาในไทย ด้วยการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่ง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิ คือกระจก 'ยาตะ โนะ คากามิ', พระขรรค์ 'คุซานางิ โน ซุรุกิ' และอัญมณีมางาตามะ 'ยาซาคานิ โน มางาตามะ' รูปทรงคล้ายหยดน้ำ พร้อมกับการถวายพระราชลัญจกรด้วย โดยมีคณะตัวแทนกลุ่มเล็ก ๆ เข้าเฝ้า แต่ไม่มีสมเด็จพระจักรพรรดินี มาซาโกะ พระชายาของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโต เพราะตามประเพณีแล้ว สมาชิกในราชวงศ์ที่เป็นสตรีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีขึ้นครองราชย์






สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ พระชนมายุ 59 พรรษาได้รับการถวายพระราชกกุธภัณฑ์ 2 สิ่ง คือพระขรรค์ และอัญมณีมางาตามะ ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิสืบทอดกันมาแต่โบราณ และสิ่งของนี้ถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจแห่งจักรพรรดิ และมีการถวายสิ่งของอีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือกระจก และเมื่อนำทั้ง 3 สิ่งมารวมกัน จึงเรียกว่า ไตรราชกกุธภัณฑ์




กระจก ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าเป็นสิ่งของที่มีค่ามากที่สุด เชื่อกันว่าเก็บไว้ที่ศาลเจ้าอิเสะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ตั้งอยู่ที่เมืองอิเสะ ในจังหวัดมิเอะ และไม่เคยนำออกจากศาลเจ้าแห่งนี้เลย



ทั้งนี้ กระจก พระขรรค์ และอัญมณีมางาตามะ ไม่เคยปรากฏในภาพถ่าย แม้แต่สมเด็จพระจักรพรรดิเองก็ไม่เคยได้ทอดพระเนตร



ดังนั้น ในพระราชพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ วันที่ 1 พฤษภาคม เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่จะถวายให้สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ จะประกอบด้วย พระขรรค์จำลอง และอัญมณีมางาตามะของจริง ส่วนกระจกจำลองนั้น ไม่ได้นำมาใช้ในพระราชพิธี โดยทั้งหมดจะห่อหุ้มด้วยผ้า และจะนำไปประดิษฐานไว้ในพระราชวังต่อไป

สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ ตรัสว่า พระองค์ทรง “รู้สึกถึงความเคร่งขรึม” แต่ก็ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติ และความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน



สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทรงเป็นพระจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ประสูติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังเป็นองค์แรกที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และเป็นองค์แรกที่ใช้ชีวิตในการศึกษาอยู่ในต่างประเทศ

สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น ไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่อยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติ




สำหรับพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์การครองราชย์ของกษัตริย์ ภาษาไทยใช้คำว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" และมีน้ำเป็นส่วนสำคัญตามขนบความเชื่อของไทย โดยนำมาจากแหล่งต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นมงคล พิธีจึงได้ชื่อว่า "ราชาภิเษก" อันประกอบด้วยคำว่า "ราชา" กับ "อภิเษก" คำหลังนี้เป็นกริยาที่มีความหมายว่า "แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ" (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ส่วนพระราชพิธีของญี่ปุ่น น้ำไม่ได้มีบทบาทเช่นนั้น แต่มีคติทางชินโต หรือ "วิถีแห่งเทพ" อันสืบเนื่องจากสุริยเทวีและการสร้างชาติของญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก เช่น การไปสักการะศาลเจ้าสำคัญ การรับประทานอาหารร่วมกับเทพเจ้า