ความสำคัญ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พระมหากษัตริย์ไทย

2019-04-08 20:00:03

ความสำคัญ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”  พระมหากษัตริย์ไทย

Advertisement

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ไทย ต้องได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ด้วยการถวายน้ำอภิเษกและการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ แบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของ ศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ ดังความใน “จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า

“...ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำราแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการจนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึก พระบรมราชนามาภิธัย กับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ แห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น จะประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์ และในส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรก็จะเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวังโดยภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์ที่ผ่านการสวมมงกุฎจะเสด็จประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี