ภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก

2019-03-15 16:50:04

ภาวะนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก

Advertisement

“นอนกรน” เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก ข้อมูลในต่างประเทศพบความชุกของการนอนกรนเป็นประจำร้อยละ 2.4-17.1 และความชุกของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ร้อยละ 1.2-5.7 ส่วนข้อมูลในเด็กไทยพบความชุกของอาการนอนกรนเป็นประจำและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ร้อยละ 6.9-8.5 และร้อยละ 0.7-1.3 ตามลำดับ

คำจำกัดความของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด และเกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด มีผลทำให้คุณภาพของการนอนหลับลดลง

ประวัติที่พบในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ได้แก่ การนอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ หายใจแรงกว่าปกติขณะนอนหลับ มีการหยุดหายใจแล้วตามด้วยเสียงหายใจดังเฮือก ปัสสาวะรดที่นอน นอนในท่านั่งหลับหรือแหงนคอขึ้น ริมฝีปากเขียว ปวดศีรษะตอนตื่นนอนผลอยหลับ หรือง่วงเวลากลางวัน มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม เช่น ซุกซนผิดปกติ หรือสมาธิสั้น ก้าวร้าว

การตรวจร่างกายที่พบในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก ได้แก่ น้ำหนักน้อย หรืออ้วนกว่าเกณฑ์ ต่อมทอลซิลโต คางเล็กหรือร่นหลัง เพดานปากโค้งสูงหรือโหว่ การเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตสูง อาการแสดงหัวใจด้านขวาล้มเหลว

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กที่พบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายระบบ ได้แก่

1. ระบบประสาทและพฤติกรรมโดยแบ่งความผิดปกติเป็นสองกลุ่มหลัก คือกลุ่มพฤติกรรมผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นการซนมากผิดปกติ บางครั้งมีปัญหาเรื่องความตั้งใจในการทำงานจนเข้าข่ายโรค ซนสมาธิสั้น หรืออาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหลับมากผิดปกติในช่วงกลางวัน

2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิตผิดปกติ ความดันโลหิตสูง หัวใจห้องซ้ายหนาตัวขึ้น และหากอาการรุนแรงมีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีความดันเลือดในปอดสูง หัวใจห้องขวาทำงานผิดปกติ และหัวใจวายในที่สุด

3. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ปัญหาโรคอ้วน การสะสมไขมันที่ผิดปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก จากผลการวิจัยทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ พบว่าการซักประวัติและการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถวินิจฉัย หรือบอกถึงความรุนแรงขอภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยโรคให้แม่นยำขึ้น ได้แก่

1. การตรวจภาพรังสี การถ่ายภาพทางรังสีบริเวณคอจะช่วยให้ทราบถึงขนาดและตำแหน่งของต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์ ที่อาจมีผลอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน

2. การตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับ พบว่าการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนขณะหลับตลอดคืนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แล้วนำมาสร้างเป็นกราฟ สามารถนำมาใช้เป็นการตรวจคัดกรองของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ ถ้าผลเป็นบวกผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นได้สูง แต่ถ้าผลเป็นลบไม่สามารถตัดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กออกไปได้ ยังต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบต่อ หรือส่งพบผู้เชี่ยวชาญต่อไป

3. การตรวจการนอนหลับชนิดเต็มรูปแบบ ยังถือว่าเป็นการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็กได้ดีที่สุด มีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะนี้ในเด็กที่มาด้วยอาการนอนกรนหรือหายใจลำบากขณะหลับ และช่วยแยกแยะความรุนแรงของโรค ช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของภาวะนี้ ตลอดจนผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด

การรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีหลายวิธี เช่น

การรักษาโดยการผ่าตัดต่อมอดีนอยด์และทอลซิล เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์โต พบว่าการผ่าตัดต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และทำให้คุณภาพชีวิตตลอดจนปัญหาทางด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาแบบติดตามอาการ

การรักษาโดยการใช้ยา มีการนำยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ในรายที่ใช้ยาแล้วอาการกรนดีขึ้น แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอาจจะยังไม่หายขาด และหลังหยุดใช้ยาอาจมีอาการกลับมาได้ จึงควรติดตามอาการผู้ป่วยขณะใช้ยาและหลังจากหยุดใช้ยาแล้ว

ารรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลและหรืออะดีนอยด์ แล้วยังมีอาการของหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหลงเหลืออยู่ แล้วยังใช้ในกรณีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วน โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และโครงสร้างใบหน้าผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้สำเร็จ และสุดท้ายใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยปฏิเสธหรือไม่สามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้ การใช้ทันตอุปกรณ์ประโยชน์ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ร่วมกับมีการสบฟันผิดปกติ หรือมีคางร่น 

พญ. อัญชนา ทองแย้ม

แพทย์ประจำศูนย์โรคการนอนหลับโรงพยาบาลรามาธิบดี