รพ.จุฬาฯจัดกิจกรรมวันนอนหลับโลก

2019-03-11 23:20:06

รพ.จุฬาฯจัดกิจกรรมวันนอนหลับโลก

Advertisement

รพ.จุฬาลงกรณ์จัดกิจกรรมวันนอนหลับโลก ระบุมากกว่า 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่กับการนอนหลับ ชี้ต้องนอนหลับสนิทอย่างมีคุณภาพ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ตื่นขึ้นมาเราจะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า พร้อมในการใช้ชีวิตประจำวัต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ


เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับและสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม จุฬาฯ วันนอนหลับโลก World Sleep Day 2019 Healthy Sleep Healthy Aging เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับและโรคความผิดปกติจากการนอนหลับ ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการนอนมากขึ้น

ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์และวิจัย กล่าวว่า การนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ร่างกายของคนเราจะได้หยุดพักและฟื้นฟู ซ่อมแซม และปรับสมดุลต่างๆ แต่หลายคนกลับมองข้ามการพักผ่อนไม่เพียงพอและปัญหาจากการนอนหลับในเวลากลางคืนที่เราไม่รู้ตัวนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับชีวิตได้

สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก (The World Association of Sleep Medicine : WASM) จึงได้กำหนดจัดกิจกรรม “วันนอนหลับโลก : World Sleep Day ขึ้นในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค.ในทุกๆ ปี เพื่อให้ประชากรโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการนอนหลับ หากไม่เร่งแก้ไขก็อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

การจัดงาน “วันนอนหลับโลก “World Sleep Day” ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “นอนหลับสนิท ชีวิตยืนยาว” ซึ่งในปีนี้เน้นเรื่องการนอนไม่หลับ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่พบมากที่สุด โดยใช้ชื่องานประจำปีนี้ว่า จุฬาฯ วันนอนหลับโลก World Sleep Day 2019 ; Healthy Sleep, Healthy Aging เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการนอนที่ถูกสุขภาวะ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของการนอนหลับ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดการปัญหาภาวะการนอนหลับอย่างตรงจุดด้วย ดังนั้นการทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการนอนหลับ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องกันดูแลตนเอง ให้มีคุณภาพการนอนที่ดี เพื่อการดำรงชีวิตที่มีประสิทธิภาพต่อไป


รศ.นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์นิทราเวช กล่าวว่า การจัดงานวันนอนหลับโลก ประจำปี 2562 รพ.จุฬาลงกรณ์ได้จัดกิจกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “นอนหลับสนิท ชีวิตยืนยาว” เน้นเรื่องการนอนไม่หลับ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่พบมากที่สุด และชื่องานประจำปีนี้คือ จุฬาฯ วันนอนหลับโลก World Sleep Day 2019 ; Healthy Sleep, Healthy Aging มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องปัญหาการนอนไม่หลับ นอนกรน ฯลฯ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำบริเวณโถงชั้นล่าง อาคาร ภปร และมีการจัดนิทรรศการ ณ ระเบียงรมณีย์ ชั้น 14 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โดยจัดตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2562 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ทั้งนี้ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่อง “นอนหลับสนิท ชีวิตยืนยาว” ในวันเสาร์ที่ 16 มี.ค.2562 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 โซน B อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เพื่อให้รู้จักวิธีการนอนอย่างถูกต้อง เช่น นอนอย่างไรให้ชีวิตยืนยาว, นอนอย่างไรให้ชีวิตสดใสร่าเริง(ในเด็ก) และที่สำคัญทำอย่างไรให้นอนหลับ และทางศูนย์นิทราเวช ยังเปิดให้บริการคลินิก CBT-I เป็นการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดที่อาจไม่เหมาะสมซึ่งรบกวนการนอน โดยเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สาธิตวิธีการปรับพฤติกรรมและความคิดเกี่ยวกับการนอนให้ดียิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมานี้ และในปี 2562 นี้ทางศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังได้จัดทำโครงการบริจาคเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก(CPAP)แก่ผู้ยากไร้  เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นร่วมด้วย โดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure (CPAP หรือ ซีแพพ)) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยมีหลักการทำงานคือ เครื่องจะอัดอากาศต่อเนื่องเพื่อถ่างท่อทางเดินหายใจส่วนบนที่ตีบแคบให้เปิดออก โดยผู้ป่วยจะใส่ขณะนอนหลับเท่านั้น

ซึ่งผลจากการใช้เครื่องพบว่าจะทำให้ผู้ป่วยไม่กรน นอนหลับได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพมากขึ้น และยังมีข้อมูลว่า ถ้าใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อคืน จะสามารถลดความเสี่ยงของการมีโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งสามารถลดโอกาสการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกนั้นค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถได้รับการรักษานี้ได้ จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์จะบริจาคเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกให้กับผู้ป่วยยากไร้ได้เข้าถึงการรักษา และสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์นิทราเวช โทร.02-649-4037

ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า วันนอนหลับโลก คือ วันที่จัดงานเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นประจำทุกปี โดยความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านการหลับจากทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญ และปัญหาของการหลับ เป็นการสื่อสารไปสู่ประชาชนในความพยายามที่จะป้องกัน และการรักษาโรคจากการหลับ วันนอนหลับโลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 14 มี.ค. 2551 โดยมี Slogan “Sleep Well, Live Fully Awake” หรือเป็นคำขวัญว่า “หลับสนิทชีวิตตื่นตัว” จัดในวันศุกร์ก่อนฤดูใบไม้ผลิเดือนมี.ค. และมีการจัดงานเป็นประจำทุกปีต่อมา งานวันนอนหลับโลกได้จัดกิจกรรมขึ้นในทั่วโลก ในขณะนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด 67 ประเทศ และสถานที่จัดงานจะปรากฏใน www.worldsleepday.org โดยตัวแทนวันนอนหลับโลกในแต่ละประเทศ จะทำงานเพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงปัญหาจากการหลับในรูปแบบต่างๆ

ประเทศไทยได้มีการจัดวันนอนหลับโลกตั้งแต่ปี 2550  สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการหลับจากสหสาขาต่างๆ ที่มาจาก 4 ราชวิทยาลัย ทั้งทางอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์  จิตเวชศาสตร์ และ โสต ศอ นาสิก และเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเพื่อส่งเสริมการศึกษา และการฝึกอบรมรวมทั้งเผยแพร่วิทยาการเกี่ยวกับความผิดปกติจากการหลับ โดยมีจุดมุ่งหมายอยากให้คนไทยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องนอนหลับแก่แพทย์และประชาชนทั่วไป ผู้สนใจสามารถเปิดดูเว็บไซต์ของสมาคมได้ที่ www.sst.or.th ซึ่งมีเนื้อหาความรู้สำหรับประชาชนที่สามารถอ่านและดาวน์โหลดได้ฟรี

“นอนหลับสนิท ชีวิตยืนยาว ถ้าเป็นภาษาอังกฤษฝรั่งเค้าก็จะพูดกันว่า healthy sleep, healthy aging เราเคยคิดกันบ้างหรือเปล่า ว่าตั้งแต่เราเกิดมา เวลามากกว่าหนึ่งในสามของชีวิตเราอยู่กับการนอนหลับ คนเราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้นอนหลับ การนอนหลับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เหมือนกับการหายใจ การดื่มน้ำ การรับประทานอาหาร การนอนหลับที่ดีต่อร่างกาย  หมายถึงต้องนอนหลับสนิทอย่างมีคุณภาพ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ตื่นขึ้นมาเราจะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า พร้อมในการใช้ชีวิตประจำวันและต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ” ศ.พญ.อรุณวรรณ กล่าว