พปชร.ชูนโยบายเปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ

2019-03-06 14:20:56

พปชร.ชูนโยบายเปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ

Advertisement

พปชร.สร้างชีวิตใหม่ให้ผู้พิการ ชูนโยบายวิสาหกิจเพื่อสังคม เปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ”เปิดทางผู้มีอาชีพ-สร้างรายได้

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)แถลงนโยบายเพื่อผู้พิการว่า จากการหารือผู้พิการพบว่าความต้องการของผู้พิการคือขอให้ผลักดันและเปิดโอกาสให้ผู้พิการ ใน 5 เรื่อง คือ 1.เปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ 2.เปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลและสถานที่ต่างๆ 3.การนำเทคโนโลยีมาช่วยผู้พิการ 4.การดูแลสวัสดิการผู้ช่วยเหลือผู้พิการ และ5.การฝึกอาชีพ ให้โอกาสทางการศึกษา โดยพรรคเห็นว่ามี 2 เรื่อง ที่สามารถจะดำเนินการได้ก่อน คือ 1.การเปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ ให้โอกาสและส่งเสริมให้ผู้พิการมีอาชีพและรายได้ โดยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชเพราะพ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และมีผลบังคับใช้ จึงสามารถตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมและดำเนินการในเรื่องนี้ ทำให้ผู้พิการมีงานทำ เช่น หมอนวดพิการทางสายตา ซึ่งเราได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมสถานที่ไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรปลอดสาร งานหัตถกรรม โดยจะชวนผู้พิการมาร่วมกันเป็นผู้บริหารวิสาหกิจ ส่วนเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ ตอนนี้มีกองทุนผู้พิการ 12,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยถูกนำไปใช้ จึงคิดว่าจะนำเงินส่วนนี้มาเป็นทุนเริ่มต้นในการตั้งบริษัท ถือเป็นการทำความฝันที่จะเปลี่ยนผู้พิการเป็นผู้ประกอบการได้สำเร็จ

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อว่า 2.การดูแลผู้ช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งขณะนี้ยังขาดแคลนและไม่ได้รับการดูแลสวัสดิการที่เหมาะสม หากมีวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้วก็จะตั้งบริษัทลูกเกี่ยวกับผู้ช่วยเหลือผู้พิการ เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้พิการ และมีสวัสดิการให้ ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ด้านนายพิทยา ศรีโกตะเพ็ชร หนึ่งในคณะทำงานนโยบายคนพิการ จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้มีการยกระดับสวัสดการคนดูแลผู้พิการให้มีความมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ ก็จะช่วยให้คนไทยหลายพัน หลายหมื่นคนไม่ตกงาน ที่สำคัญในอนาคต คนพิการจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพลังทางเศรษฐกิจ เสียภาษี และไม่ต้องร้องขอเบี้ยคนพิการ แนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เป็นแนวทางที่ให้โอกาส และเปิดมิติใหม่ในการให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของวิสาหกิจเพื่อสังคม และเพิ่มวิถีทางที่สังคม และภาครัฐในการดูแล สนับสนุนผู้พิการให้สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่