ภารกิจค้นหาสะเก็ดหินอวกาศที่ขั้วโลกใต้

2019-03-02 09:30:40

ภารกิจค้นหาสะเก็ดหินอวกาศที่ขั้วโลกใต้

Advertisement

ทีมนักสำรวจแห่งสหราชอาณาจักร นำโดย ดร.แคเธอรีน จอย ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และ น.ส.จูลี โบม มัคคุเทศก์สำรวจแอนตาร์คติก สามารถเก็บรวบรวมชิ้นส่วนอุกกาบาต หรือสะเก็ดดาว จากทุ่งน้ำแข็งทวีปแอนตาร์คติก หรือดินแดนรอบขั้วโลกใต้ ได้มากถึง 36 ชิ้น หลังการค้นหานาน 4 สัปดาห์



ดร.จอยและโบมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการค้นหาสะเก็ดหินอวกาศ บริเวณเทือกเขาแชคเกิลตัน ที่ทอดยาวผ่านทุ่งน้ำแข็งของขั้วโลกใต้ เก็บรวบรวมชิ้นส่วนตัวอย่าง ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงก้อนขนาดเขื่องเท่าลูกแตงโม นำกลับมาศึกษาวิจัย



ทั้งนี้ ประมาณ 2 ใน 3 หรือ 60 % ของชิ้นส่วนอุกกาบาตที่พบบนพื้นโลก จะพบในแอนตาร์คติก การค้นหาค่อนข้างจะง่าย เนื่องจากก้อนขนาดใหญ่ ที่ฝังจมทุ่งน้ำแข็งไม่ลึก จะมองเห็นเป็นก้อนสีดำ ตัดกับพื้นน้ำแข็งสีขาวโพลน




ดร.จอย กล่าวว่า ชิ้นส่วนอุกกบาตรมีสีดำเป็นเอกลักษณ์ สามารถแยกแยะได้ง่ายแม้จะเห็นแต่ไกล สีของมันเกิดจากการเผาไหม้ จากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ขณะหล่นบนพื้นโลก

หลายประเทศส่งทีมนักสำรวจ ออกค้นหาชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ขั้วโลกใต้มานานแล้วเช่นกัน โดยสหรัฐและญี่ปุ่นส่งทีมผู้เชี่ยวชาญออกค้นหาเป็นประจำตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 เช่นเดียวกับทีมจาก จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และเบลเยี่ยม





สะเด็ดดาวเป็นชิ้นส่วนหินที่แตกออกจากดาวเคราะห์น้อย และหินอวกาศขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็นเศษชิ้นส่วนหลงเหลืออยู่จากการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ เมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน ดังนั้น มันจึงสามารถบอกเล่าเกี่ยวกับสภาวะที่เป็นอยู่ ในขณะก่อกำเนิดดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะได้เป็นอย่างดี