อภ.ปลูกแล้วกัญชาทางการแพทย์

2019-02-27 16:00:13

อภ.ปลูกแล้วกัญชาทางการแพทย์

Advertisement

อภ.ปลูกแล้วกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกของอาเซียน ใช้ผลิตสารสกัดต้นแบบ คาดเดือน ก.ค.นี้ ได้ผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาล็อตแรก 2,500 ขวด ใช้ทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ร่วมในพิธี


รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้ อภ.ทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้งได้ลงนามในหนังสืออนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ อภ.ได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางแพทย์สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิด น้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) สำหรับนำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย โดยในวันนี้เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ของ อภ. อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งจะทำให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชา ที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัย


ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อภ.ได้นำกัญชาของกลาง มาทำการสกัดเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาในเบื้องต้น แต่เมื่อตรวจคุณภาพกัญชาของกลางพบว่ามีปริมาณสารปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ องค์การฯ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปลูกกัญชาสายพันธุ์ลูกผสม บนพื้นที่แห่งนี้ การปลูกกัญชาทางการแพทย์ครั้งนี้เป็นการปลูกเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย พัฒนา ด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาวิจัยการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ ด้านเทคโนยีการสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ด้านการนำไปใช้ในการวิจัยทดลองทางคลินิกของคณะแพทย์ผู้วิจัยในสาขาโรคต่างๆ ซึ่งการปลูกในครั้งนี้ อภ. จะใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 3-4 เดือน โดยประมาณเดือน ก.พ. 2562 จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี


ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า อภ.ดำเนินการการวิจัย พัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลในการปฏิบัติที่ดีในด้านต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำคือการเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้ป่วย ซึ่งผู้ผลิตกัญชาทางแพทย์ชั้นนำของโลก ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย 7 G ดังนี้ GAP : Good Agricultural Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี GLP : Good Laboratory Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี GMP: Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาที่ดี GCP : Good Clinical Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี GDP : Good Distribution Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการจัดส่งยาที่ดี GSP : Good Security Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี GIP : Good Information Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี


ผอ.อภ. กล่าวต่อว่า สำหรับการปลูกเพื่อให้ได้กัญชาในระดับเกรดสำหรับใช้ทางการแพทย์นั้นต้องมีการควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยวเป็นวัตถุดิบกัญชาแห้ง การรักษาความปลอดภัย ซึ่งการปลูกสามารถปลูกได้หลายวิธีแต่ต้องมีการความคุมทุกขั้นตอน ในเบื้องต้นนี้อภ.ใช้การปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์หรือ Medical Grade การปลูกด้วยระบบนี้จะทำให้สามารถควบคุมสารอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและได้ปริมาณสารสำคัญตามสัดส่วนและปริมาณ THC และ CBD ที่เหมาะสมสำหรับมาใช้ทางการแพทย์ และที่สำคัญจะไม่มีการปนเปื้อน โลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งหากปลูกกัญชาบนดินทั่วๆไปแล้วธรรมชาติของกัญชาจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ดูดซึมสารพิษเหล่านั้นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น จึงเชื่อมั่นได้ว่าการปลูกด้วยระบบนี้จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้บริโภค ตลอดจนมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย




ผอ.อภ. กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แก้ปวด ต้านอาเจียน และลดการอักเสบ CBD ระงับอาการวิตกกังวลและมีฤทธิ์ต้านการชัก โดยนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ในกลุ่มที่ใช้เพื่อการรักษาโรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาการปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีต่างๆไม่ได้ผล กลุ่มที่น่าจะใช้เพื่อควบคุมอาการ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย


“องค์การเภสัชกรรมยังได้มีโครงการการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) ระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 164.04 ล้านบาท ที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 1000 ตารางเมตร มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืช (greenhouse) เพื่อวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ และสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกพืช ที่ลดต้นทุนลงมาได้ต่อไป การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่ 3 การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในเดือน ม.ค. 2564 ที่พื้นที่อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี” ผอ.อภ. กล่าว