พปชร.รอ กกต.ไฟเขียว “บิ๊กตู่”หาเสียง

2019-02-22 17:30:28

พปชร.รอ กกต.ไฟเขียว “บิ๊กตู่”หาเสียง

Advertisement

“กอบศักดิ์”ลุยซอยละลายทรัพย์ ช่วยผู้สมัคร ส.ส.กทม.หาเสียง เผย พปชร.รอถาม กกต.ไฟเขียวให้”บิ๊กตู่”ช่วยหาเสียงได้หรือไม่ ย้ำงบกระทรวงกลาโหมไม่สูง ยกกรณีเครื่องบิน C – 130 ใบพัดเสียใบพัดขัดข้องเป็นตัวอย่างอัดงบให้กองทัพ


เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่ซอยละลายทรัพย์ ย่านสีลม ช่วยผู้สมัคร น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 2 หาเสียง ภายใต้สโลแกน "ปลุกกรุงเทพ เติมพลังบวก"


นายกอบศักดิ์ กล่าวถึง กรณีที่มีข่าวว่าพรรคจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้พิจารณาคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค สามารถช่วยผู้สมัครลงพื้นที่หาเสียงได้หรือไม่ ว่า ทางพรรคปรารถนาให้พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยลงพื้นที่หาเสียง ขณะที่พรรคคู่แข่งก็ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ ไปดีเบต แต่ยังทำไม่ได้เพราะต้องสอบถามไป กกต.ให้ชัดเจนซึ่งฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ พปชร.ตามใจกกต. สั่งให้หันซ้ายก็ซ้าย หันขวาก็ขวา เรากลัว กกต. เหมือนกับพรรคอื่น มีอะไรก็ต้องปรึกษา กกต.ไว้ก่อน ประเด็นเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทำให้ต้องรอบคอบ อะไรที่คิดว่าปลอดภัยก็ทำ เช่น นำรูปของนายกฯติดป้ายหาเสียงกับผู้สมัคร ส.ส.ฯเพราะทำได้


ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่หลายฝ่ายโจมตีเรื่อง ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ความเป็นจริงของการตั้งรัฐบาลจะต้องมี ส.ส. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสภาฯ ก้าวแรกของการเป็นรัฐบาล คือการเสนอนโยบาย การผ่านนโยบายต่างๆจะต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 250 เสียง แต่ถ้ามีแค่ 126 เสียง และให้ส.ว. เข้ามา แค่ก้าวแรกก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ ขอย้ำว่าเราจะทำงานเต็มที่เพื่อให้ได้เสียงมากที่สุด และพร้อมจับมือกับพันธมิตรที่มีนโยบายเหมือนกันคือสงบ ไม่ขัดแย้ง ถ้าประเทศชาติไม่สงบ นโยบายต่างๆก็ไม่สามารถทำได้ จึงหวังว่าจะหาได้ทั้งหมด 250 เสียง


เมื่อถามถึง หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายด้านการปฏิรูปกองทัพ พปชร.จะมีนโยบายด้านนี้หรือไม่ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้ดูข้อมูลที่แท้จริง ที่บอกว่างบกองทัพเยอะ มาจากจุดไหนบ้าง ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีสัดส่วนใช้งบประมาณกลาโหมต่อจีดีพีอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เมื่อเทียบกับงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท อยู่ที่ 7เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งปี ถือว่าต่ำกว่าในรอบหลายปี ไม่ได้เพิ่มขึ้นมา เมื่อเทียบกับภารกิจภัยพิบัติต่างๆ ที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุวิกฤตก็เรียกร้องทหารให้ออกไปช่วยเหลือ ในฐานะที่ตนเคยเป็นรัฐมนตรี 3-4 ปี พบว่าเงินจำนวนหนึ่งเข้าไปอยู่ในส่วนของการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ ในเรื่องของกลาโหม อยากให้พิจารณาให้รอบคอบ เพราะทหารมีบทบาทหลากหลาย ยกตัวอย่างที่เครื่องบิน C-130 ลำที่นายกรัฐมนตรีจะโดยสารไปปฎิบัติภารกิจที่จ.กระบี่ เมื่อวันที่21ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดใบพัดขัดข้อง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำไมต้องใส่เงินลงไปบ้างเพื่อให้กองทัพสามารถยกระดับยุทโธปกรณ์ในภารกิจต่างๆได้