หยุดพฤติกรรมรุนแรงลูกปลูกฝังจริยธรรม 3-6 ขวบ

2017-07-03 22:15:00

หยุดพฤติกรรมรุนแรงลูกปลูกฝังจริยธรรม 3-6 ขวบ

Advertisement

กรมสุขภาพจิตชี้พฤติกรรมความรุนแรง พบเร็วตั้งแต่วัยเด็กแก้ไขได้ทัน แนะปลูกฝังจริยธรรมลูกตั้งแต่ 3-6 ขวบ
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่นที่ปรากฏเป็นข่าวในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ว่า โดยทั่วไปจะมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย และ วัยเรียน จากการเติบโตมาในลักษณะที่ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง ทำให้เด็กสะสมความรุนแรงและแสดงออกกับสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และเพื่อน โดยไม่รู้สึกผิด และพอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต เข้าสู่กระบวนการของความรุนแรง กลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติทางพฤติกรรมเช่นนี้ ตั้งแต่วัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่นถือเป็นโอกาสที่ยังสามารถแก้ไขได้ทัน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยชี้แนะ สั่งสอน แนะนำลูกตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะ ในวัยเด็ก ช่วง 3-6 ขวบ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ในการปลูกฝังและวางรากฐานทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก เน้นศีล 3 ใน 5 ข้อ ได้แก่ ศีล ข้อที่ 1 ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ศีลข้อที่ 2 ไม่เอาของของผู้อื่นหรือไม่ลักขโมย และศีลข้อที่ 4 คือ ไม่พูดปด หรือพูดหยาบ ซึ่ง 3 ข้อนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังให้กับเด็กๆ ได้ ปัญหาพฤติกรรมก็จะไม่เกิด
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มเด็กที่เติบโตมาในชุมชนหรือสภาวะสังคมที่มีความรุนแรงสูง ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง เด็กถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำความรุนแรงโดยตรง การเห็นสื่อความรุนแรงบ่อยๆ ในสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชียลฯ เกมออนไลน์และออฟไลน์ ที่มีแต่ความก้าวร้าว เต็มไปด้วยเรื่องของการฆ่า การทำลายล้างกัน ย่อมทำให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความกระด้าง ชาชิน ต่อความสูญเสียและความเจ็บปวด บางครั้งมองเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า หรือภาพที่เลวร้ายในสื่อ เป็นตัวชี้นำการแสดงออกความเก็บกดทางอารมณ์ที่ผิดๆ ย่อมทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ มีพื้นฐานเติบโตขึ้นด้วยการใช้ความรุนแรง การป้องกันความรุนแรงกับเด็กและสตรีในครอบครัวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มได้จากชุมชน หากพบเห็นปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว ขออย่าเพิกเฉย ผู้พบเห็น สามารถแจ้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการแทรกแซงหรือให้การช่วยเหลือ เพื่อหยุดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550