“Miniture Plant Pot” สุดยอดเกมรางวัลนักประดิษฐ์

2019-02-17 15:20:06

“Miniture Plant Pot” สุดยอดเกมรางวัลนักประดิษฐ์

Advertisement

ถูกใจคุณพ่อคุณแม่ และน้องๆ หนูๆ คนรักเกมแน่นอน สำหรับ "มินิเจอร์ แพลนท์ พอท” เกมส่งเสริมการเรียนรู้และอนุรักษ์ต้นไม้ ทำงานบนพื้นฐานเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่เด็กและเยาวชน โดยใช้เวลาในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้จริงด้วยตนเอง


การทำงานหลักของเกมจะเชื่อมต่อไปยังกระถางต้นไม้อัจฉริยะ (Intelligent Plant Pot) ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่สามารถรับค่าสถานะต่างๆ ของสภาพแวดล้อมรอบต้นไม้ โดยผู้เล่นสามารถควบคุมและดูแลการเจริญเติบโตของต้นไม้จากระยะไกลได้ สำหรับการผ่านด่านเกมจะวิเคราะห์จากการเติบโตของต้นไม้ด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพ (Image Processing) พร้อมทั้งเพิ่มความสมจริงในเกมด้วยการเล่นในโหมด AR (Augmented Reality) และเพิ่มความท้าทายให้แก่ผู้เล่นด้วย Mini-Game เกมย่อยเพื่อเพิ่มทักษะการผสมยาสมุนไพรไทย เพื่อปราบบรรดาแมลงศัตรูพืช

ดร.ปรีชา ตั้งวรกิจถาวร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.มหิดล กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของเกมนี้ คือ แนวความคิดที่อยากจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการทดลองปลูกต้นไม้จริงด้วยตนเอง โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินไปกับการดูแลต้นไม้ด้วยการนำเกมแอพพลิเคชั่นเข้ามาเพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก ควบคู่ไปกับการปลูกและดูแลต้นไม้บนกระถางต้นไม้อัจฉริยะ พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับวิธีการปลูกและดูแลต้นไม้เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถปฏิบัติตามได้ โดยเกมแอพพลิเคชั่นนี้จะเชื่อมต่อไปยังกระถางต้นไม้ที่ติดตั้ง Raspberry Pi และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่สามารถรับค่าสถานะของสภาพแวดล้อมบริเวณต้นไม้ได้ ได้แก่ ค่าความชื้นในดิน และค่าความเข้มแสง และนำมาวิเคราะห์ความต้องการของต้นไม้ หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และไปแสดงผลบนสมาร์ทโฟน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ให้สามารถดูแลต้นไม้ได้ง่ายขึ้น และดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้จากระยะไกลได้ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม



ทั้งนี้ภายในเกมจะมีการเก็บสะสมตัวละคร โดยผู้เล่นสามารถซื้อของตกแต่งจากร้านค้ามาวางไว้ในฉาก เพื่อดึงดูดตัวละครให้เข้ามาหา และจะได้รับรางวัลพิเศษเมื่อสามารถผ่านด่านได้ ซึ่งเกณฑ์การผ่านด่านจะวัดจากการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกไว้โดยการใช้เทคนิคการประมวลผลจากภาพ (Image Processing) นอกจากนี้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality Technology) ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสมจริงให้แก่ผู้เล่น” ซึ่งเกมดังกล่าว ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)