“หัวใจวาย” โรคใกล้ตัว เตรียมพร้อมรับมือก่อนสาย

2019-02-10 17:40:46

 “หัวใจวาย” โรคใกล้ตัว  เตรียมพร้อมรับมือก่อนสาย

Advertisement

ในปัจจุบันการทำความเข้าใจกับคำว่า “หัวใจวาย” ซึ่งมีความหมายแตกต่างจาก “หัวใจล้มเหลว” ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของคนในสังคม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ขอนำเสนอข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "โรคหัวใจวาย" เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี และทันท่วงที

ผศ.นพ.สุรพันธ์ สิทธิสุข กล่าวว่า “หัวใจวาย” หมายถึง การทำงานของหัวใจสิ้นสุดลง นั่นคือ หัวใจหยุดเต้น หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย อวัยวะทุกอย่างจะหยุดทำงานตามไปด้วย อาการนี้ร้ายแรงเกิดขึ้นกะทันหัน และถ้าไม่ได้รับการกู้ชีวิต ผู้ที่มีหัวใจวายก็จะถึงแก่ความตายทันที

สำหรับ “หัวใจล้มเหลว” เป็นภาวะที่เกิดจากหัวใจทำงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น การบีบตัวของหัวใจอ่อนลง หรือหัวใจขยายตัวไม่ดีไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้เพียงพอ เกิดการคั่งของน้ำในปอด มีน้ำท่วมปอด ขาบวม มีน้ำในท้อง ตับโต ซึ่งเป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการของหัวใจล้มเหลวนี้ มีตั้งแต่อาการจากน้อยจนถึงอาการหนักมาก เช่น เหนื่อยมาก นอนราบไม่ได้ ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.อย่างฉุกเฉิน และอาจนำไปสู่ภาวะ “หัวใจวาย” ได้ ซึ่งในครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะหัวใจวายเท่านั้น




หัวใจวายที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหัน เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ทั้งที่เป็นโรคที่หัวใจเอง และโรคอื่นที่มีผลกระทบร้ายแรงมาที่หัวใจ โรคที่เป็นพันธุกรรมจากกำเนิดหรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลังก็ทำให้เกิดหัวใจวายได้ สามารถเกิดได้ทั้งในคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจ และในคนที่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจอยู่นานแล้ว และสามารถเกิดกับนักกีฬาที่ลงแข่งในสนามซึ่งมีร่างกายฟิตแข็งแรงมากได้ด้วย แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ หัวใจวายที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด มักพบในผู้ใหญ่อายุกลางคนขึ้นไป พบบ่อยในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ได้แก่ผู้ที่เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ เป็นความดันโลหิตสูง มีภาวะไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจอุดตัน ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น เนื่องจากหัวใจวายเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะนำไปสู่การสูญเสีย เราจึงต้องหาทางป้องกันและรับมือ เตรียมพร้อมไว้ก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จะได้ผ่อนหนักเป็นเบาหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที การป้องกันและรับมือนี้ไม่ใช่จะต้องทำเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคอะไรรวมทั้งญาติรอบข้างทุกคน ก็ควรเตรียมการให้พร้อมด้วย มีข้อแนะนำ ดังนี้

1.ตรวจหาความเสี่ยงของตัวเราเอง รวมทั้งญาติพี่น้องในครอบครัวว่ามีใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวายได้หรือไม่ เช่น ดูอายุของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โดยการตรวจเช็คร่างกายประจำปีทุกปีในคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป หากมีประวัติการตายที่ไม่ทราบสาเหตุในครอบครัวหรือประวัติหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็อาจตรวจหาความเสี่ยงในอายุที่น้อยกว่านี้ก็ยิ่งเป็นการดี หากพบปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ก็ควรรีบดำเนินการควบคุมทุกปัจจัยเสี่ยงให้ดี



2.เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการกู้ชีพ ในปัจจุบันมีการเปิดอบรมทักษะการกู้ชีวิตในเชิงปฏิบัติให้แก่ประชาชนทั่วไปในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หลายแห่ง ควรหาโอกาสอ่านภาคทฤษฎี ดูวีดีโอและไปฝึกปฏิบัติด้วย

3.มองหาโรงพยาบาลใกล้บ้าน และศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ถ้าเกิดหัวใจวายขึ้น เราจะมีคนช่วยกู้สถานการณ์ให้รอดพ้นไปได้

4.มองหาตำแหน่งของอุปกรณ์ช่วยในการกู้ชีพ คือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจกึ่งอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ที่มีอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ เช่น ตามสถานีรถไฟฟ้า, สนามบิน หรือโรงพยาบาลและสถานที่ราชการขนาดใหญ่