“บิ๊กตู่”ชมคนไทยร่วมใจแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษ

2019-02-08 21:40:43

“บิ๊กตู่”ชมคนไทยร่วมใจแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษ

Advertisement

“บิ๊กตู่”ระบุวิกฤตฝุ่นพิษ เห็นถึงความร่วมแรง ร่วมใจแก้ปัญหาอย่างน่าประทับใจ

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ปรากฏนั้น เป็นภาพรวมของฝุ่นทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยฝุ่นละออง PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อบุคคลทั่วไปในระยะยาว10 ปี 20 ปีข้างหน้าแต่อาจจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง ได้โดยง่าย ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้แหล่งที่มาของฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯนั้นเกิดจากไอเสียดีเซล ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์กว่า 50% เช่นเดียวกับทุกเมืองใหญ่ๆ ที่มีการจราจรหนาแน่น) จากการเผาชีวมวล – ขยะ อีก 35% รวมทั้งการเผาในไร่อ้อย ข้าว ข้าวโพดซึ่งแนะนำให้ใช้การไถกลบ แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หรือจุลินทรีย์อีเอ็ม ก็จะช่วยเพิ่มสารอาหารในดิน ไม่สร้างมลพิษฝุ่นละออง ที่มาของฝุ่นบางส่วนเกิดจากเขตก่อสร้าง โรงงาน ที่มีทั้งหมดแสนกว่าแห่ง แต่ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง 1,700 แห่ง โดย 600 แห่งจะต้องปรับปรุงด่วน”นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า กิจกรรมอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้น เช่น จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ ก็ควรลดลง จากวิกฤตฝุ่นละอองนี้ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด การที่รัฐบาลจะออกมาตรการอะไรออกไป ก็ต้องเห็นใจเกษตรกร ธุรกิจเอกชน แต่ต้องคำนึงถึงส่วนรวม และการปฏิบัติตามกฎหมาย การขนส่ง และก็เป็นการขนส่ง ทั้งอาหาร ทั้งสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ผ่านจากภาคโน้นภาคนี้เข้ามาในเขตเมืองเข้าในกรุงเทพฯ ผ่านกรุงเทพฯไปภาคต่อๆไป ก็ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ ภายใต้ทุกๆ วิกฤติในบ้านเมืองของเรานั้น เช่น การปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมหมูป่า หรือพายุปาบึก รวมถึงวิกฤติฝุ่นละออง ในครั้งนี้ เราก็ได้เห็นถึงความ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ระดมสมอง ความคิด ในการแก้ปัญหา อย่างน่าประทับใจทั้งการใช้โดรนการใช้เครื่องบินพ่นน้ำ การพ่นน้ำที่ตึกสูง โครงการอาชีวะอาสา ตั้งศูนย์ Fix it center ให้บริการเช็คสภาพรถ ทำความสะอาดกรองอากาศ ท่อไอเสีย ออกแบบเครื่องพ่นละอองน้ำ อุโมงค์พ่นน้ำแรงดันสูง เพื่อช่วยดักจับฝุ่นควัน การออกแบบเครื่องกำจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่ รวมถึงการล้างถนนและลดฝุ่นในเขตก่อสร้าง เป็นต้น อันนั้นเป็นภาพรวมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และPM10 อื่นๆด้วย ไม่ใช่ว่าอันใดอันหนึ่งมันจะแก้ 2.5 ได้ทันที มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนใหญ่เราต้องไปแก้ที่การจราจร และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แล้วก็อื่นๆด้วยที่สร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฉะนั้นจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงต้นตอของเขา ของสาเหตุแต่ละเรื่อง

นายกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กของรัฐบาล นั้นได้มีการแถลงข่าว และรับทราบกันแล้วตลอดช่วงสัปดาห์นี้ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายอาทิ ให้รถยนต์ดีเซล ขสมก.รถยนต์ของทางราชการ ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อตลาดไบโอดีเซล บ้านเรา ทำให้เกิดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ B20 ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคด้วยนอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนไส้กรองอากาศ กรองน้ำมันดีเซล กรองน้ำมันเครื่อง และล้างหัวฉีด อย่าลืมจอดรถให้ดับเครื่องทุกครั้ง และห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด โดยรัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ ตามแผนที่กำหนดไว้ ให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง แทนรถยนต์ส่วนบุคคล และเร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำส่วนหนึ่งของมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ที่กำลังเป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ก็คือ การพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าโดยวีดิทัศน์เรื่องแรก จะเป็น Roadmap ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือเป็น “EV Hub” ของภูมิภาค และของโลก ในวันข้างหน้า และเรื่องที่ 2 โครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้ว ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท หรือถูกลงเรื่อยๆ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่เป็น EV ที่ยังแพงอยู่ โดยนอกจากจะช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันได้ราว 45,000 บาทต่อปี แล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ทราบว่ามีเอกชนรายหนึ่ง ที่กำลังเปิดตัวควายทองรถเมล์ไฟฟ้า แบรนด์ไทย ช่วยเติมเต็มระบบขนส่งมวลชนของเรา ที่สามารถประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ขอชื่นชมและให้กำลังใจ มา ณ ที่นี้ด้วย อีกไม่นานก็คงได้เห็นวิ่งกันตามท้องถนนแล้ว ก็ขอให้ดูเรื่องมาตรฐาน คุณภาพต่างๆให้ดี ให้มีการรับรองมาตรฐานให้ดีที่สุด ที่แพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ เราต้องเร่งพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น ต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นกัน ในเรื่องของอายุการใช้งาน จะเห็นได้ว่ามีแบตราคาถูก ราคาแพง ถ้าราคาถูกคุณภาพก็ด้อยกว่า ราคาแพงบางทีมันก็แพงเกินไปที่จะซื้อมา เพราะฉะนั้นประเทศไทยกำลังพัฒนาในเรื่องนี้ในพื้นที่ของ EEC เรื่องแบตเตอรรี่ และเรื่องรถไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงการ Fast track ของเราด้วย