นายกฯเร่งแก้ฝันร้ายเกษตรกรไทย

2019-02-01 21:00:36

นายกฯเร่งแก้ฝันร้ายเกษตรกรไทย

Advertisement

นายกฯห่วงเกษตรกรวนเวียนอยู่กับฝันร้ายราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เจอภัยพิบัติทางธรรมชาติ แมลงลง โรคระบาด เป็นหนี้เป็นสิน เผยรัฐบาลใช้ตลาดนำการผลิต ประกันราคาพืชผล ผลักดันกฎหมายขายฝากป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ชวนทุกภาคส่วนร่วมมือเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ประชากรกว่า 30 ล้านคน หรือเกือบ 50% ของคนทั้งประเทศมีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรกรรม แต่ทำไมปัญหาชาวนาไทย ชาวสวน ชาวประมง ยังคงวนเวียนอยู่กับการฝันร้ายด้วยราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำบ้าง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง โรคระบาด เป็นหนี้เป็นสิน ต้องเช่าที่ดินของตนเองทำกิน การทำมาก ลงทุนมาก แต่ได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่าเหนื่อย สิ่งเหล่านี้ คือความเสี่ยง ความไม่มั่นคง ในชีวิตและอาชีพของพี่น้องเกษตรกรไทย วันนี้อยากจะมาพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร และผู้ที่อยู่ในแวดวงการเกษตร โดยจะต้องสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ แล้วชักชวนให้มาร่วมมือ ไปสู่การเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานา

นายกฯ กล่าวต่อว่า ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ก็ต้องปรับตัว หันมาร่วมมือ สนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในรูปแบบของประชารัฐ เพราะท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิต แปรรูปการตลาดของเกษตรกรรมไทย เช่นกัน รวมไปถึงนักวิชาการเกษตรที่เป็นแหล่งความรู้ และธนาคารที่เป็นแหล่งเงินทุนที่จะคอยส่งเสริมการยกระดับอาชีพเกษตรกรได้เช่นกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม นโยบายหลักด้านการเกษตรของรัฐบาลในปัจจุบัน ก็คือตลาดนำการผลิตเป็นการกำหนดโควตาเกษตรกรรม ด้วยการอาศัยข้อมูลของ พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ ลักษณะของดิน และ ความต้องการของตลาดในประเทศและนอกประเทศ เช่น ที่ลุ่ม น้ำดี ก็ควรปลูกข้าว ที่ลุ่มๆ ดอนๆ แถมน้ำน้อย ก็อย่าฝืนปลูกข้าว ควรหันไปปลูกข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่น ปัจจุบันยังมีความต้องการมากราว 4 ล้านตัน แต่เราผลิตได้เองเพียง 2 ล้านตัน อีก 2 ล้านตันต้องนำเข้า ส่วนข้าวนั้น ในแต่ละปีเราผลิตข้าวได้ 33 – 34 ล้านตันข้าวเปลือก กินเองในประเทศ 20 ล้านตัน ที่เหลือก็ต้องส่งออก แต่ถ้าตลาดผันผวน ค่าเงินบาทแข็งค่า ก็จะมีปัญหาราคาข้าวไม่มีเสถียรภาพ

“การแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือการจำกัดพื้นที่การปลูกข้าว ร่วมกับการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ข้าวที่ราคาดี ราคาสูง ที่เป็นความต้องการของตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิที่ทั่วโลกนิยม ข้าว กข 43 ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นอาหารสุขภาพเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดและผู้ป่วยโรคเบาหวาน รวมไปถึงข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ใช้สารเคมีหลายเท่าตัว ดังนั้นในการส่งเสริมพี่น้องเกษตรกร ต่อไปเจะไม่เพียงแนะนำแต่เรื่องการเพาะปลูก แต่จะต้องดูเรื่องดิน น้ำ อากาศ ไปจนถึงตลาดด้วย ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ และมีแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกซึ่งนำข้อมูลมาจากทุกแหล่ง มาบูรณาการกันทั้งเกษตร พาณิชย์ นายอำเภอ ธ.ก.ส. พัฒนาที่ดิน ส่วนตลาดต่างประเทศทูตเกษตรกับทูตพาณิชย์ ก็ต้องทำงานร่วมกัน คู่ขนานกัน โดยจะต้องออกสำรวจความต้องการตลาด และขยายตลาดทั่วโลกเพิ่มด้วย เราจะต้องไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาเหมือนยางพารา ที่มีการส่งเสริมโดยไม่มีแผนการรองรับเหมือนในอดีต ที่ส่งผลในปัจจุบัน”นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับอีก 2 เรื่อง ที่แทบจะเป็นปัญหาถาวรไปแล้ว คือ 1. การป้องกันความเสี่ยง ด้วยการประกันพืชผลโดยจัดสรรแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จาก ธ.ก.ส. และ รัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันราคาถูกให้ 65 บาทต่อไร่ เมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง โรคหรือแมลงลง รัฐจ่าย 1,000 กว่าบาทต่อไร่ และ บริษัทประกันภัย ก็ร่วมจ่าย 1,500 บาทต่อไร่ เกษตรกรก็อุ่นใจ เพราะมีประกันภัยราคาถูก และ 2. หนี้สินเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของการสูญเสียที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากการกู้เงินนอกระบบ ที่ไม่มีการคุ้มครอง ขาดความรู้ทางกฎหมายรัฐบาลก็แก้ไขอย่างยั่งยืน โดยการผลักดัน กฎหมายขายฝาก ที่ช่วยป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ เช่นในอดีต นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการไกล่เกลี่ยและ การบังคับใช้กฎหมาย อย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกร ทั่วประเทศสามารถส่งคืนทรัพย์สินให้กับประชาชนเกือบ 17,000 ราย มูลค่ารวม 19,000 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดิน 13,600 ฉบับ เนื้อที่รวม 43,000 ไร่