วอนช่วย “ชาวสวนยาง” ไร้สิทธิ์รับเงินเยียวยา

2018-12-10 13:25:43

วอนช่วย “ชาวสวนยาง”  ไร้สิทธิ์รับเงินเยียวยา

Advertisement

ชาวสวนยางพารา ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ กว่า 800 ครัว ครวญ ไม่ได้รับการเยียวยาไร่ละ 1,800 บาท เพราะไม่มีเอกสารที่ดินทำกิน ทั้งที่อาศัยและอยู่กับการเกษตรมาร่วม 60 ปี บ่นน้อยใจจ่ายภาษีขายยางเท่าคนอื่นแต่ไม่ได้รับการเยียวยาเหมือนคนอื่น วอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาและช่วยเหลือให้มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

เกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนหนึ่งจับกลุ่มพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลความเดือดร้อน ภายในสวนยางพาราริมถนนภายในหมู่บ้าน บ้านเบื้องแบบ ม.3 ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับผลกระทบจากยางพาราตกต่ำมานาน ซ้ำยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการรับการเยียวยา 1,800 บาทต่อไร่ จากรัฐบาลในครั้งนี้ เนื่องจากกรอบข้อบังคับใหม่เกษตรกรที่จะสามารถลงทะเบียน กับ กยท.ได้ต้องมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน จึงจะสามารถรับเงินเยียวยาด้านการเกษตรได้ แม้ว่าเกษตรกรเหล่านี้จะอยู่อาศัยและทำการเกษตรเลี้ยงตนเองและครอบครัวมานานร่วม 60 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และสืบทอดที่ดินทำกินมาหลายรุ่นแล้วก็ตาม จึงทำให้เกิดคำถามในใจเกษตรกรเหล่านี้ว่าทำไม จึงเกิดการดำเนินการสองมาตรฐานทั้งที่เสียภาษีขายยางพาราที่เท่าเทียมกัน

นายพัฒน์ ชุมนุช อายุ 64 ปี ที่ตามครอบครัวมาทำกินในพื้นที่ ต.บ้านทำเนียบ ตั้งแต่ พ.ศ.2505 มีที่ดินทำกิน 50 ไร่ สำหรับครอบครัวใหญ่ ก็บอกว่าน้อยใจที่ได้รับความลำบากจากราคายางพาราที่ตกต่ำแล้ว ยังต้องมาเสียสิทธิ์จากการรับการเยียวยาจากรัฐบาล ที่ควรจะมีสิทธิ์รับเหมือนชาวสวนยางพาราคนอื่นๆ




ทางด้าน นางจันทร์แรม อินทร์กรด อายุ 58 ปี ที่มีพื้นที่ทำสวนยางพารา 30 ไร่ ที่พยายามหาอาชีพเสริมนอกจากการกรีดยางพารา ก็บอกว่าจากราคายางที่ตกต่ำ แม้จะพยายามหาอาชีพเสริมทำแต่ก็ทำให้ครอบครัวใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ฝืดเคืองโชคดีที่ลูกไม่ได้เรียนหนังสือกันแล้ว ช่วยทำงานในที่ดินของตนเอง เพื่อเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหากได้รับการเยียวยาเหมือนคนอื่น คงมีเงินไปลงทุนทำอะไรได้เพิ่ม แต่ก็หมดสิทธิ์ เพราะไร้เอกสารสิทธิ์

โดยจากการสำรวจของตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำและไม่ได้รับการเยียวยา ระบุว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ดินทำกินในพื้นที่ราบริมภูเขาสองด้าน เป็นพื้นที่ราบประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ดินทำกินแบบทุ่งเลี้ยงสัตว์ พื้นที่สาธารณะประโยชน์ และป่า ที่ประชาชนเข้ามาจับจองทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ซึ่งทั้งตำบลบ้านทำเนียบมีสวนยางพารากว่าหมื่นไร่ กระจายใน 800 ครัวเรือน เดิมได้รับการจัดเก็บภาษีในรูปแบบ ภบท.5 ก่อนจะถูกยกเลิกเก็บภาษี เดิมชาวบ้านสามารถขอทุนสงเคราะห์สวนยางพาราได้ แต่เมื่อกฎหมายใหม่ออกมาทำให้เสียสิทธิ์ในหลายเรื่อง



ซึ่งนายพรชัย สังข์เพชร ตัวแทนเกษตรกร บอกว่า ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชาวบ้านได้มีสิทธิ์เหมือนคนอื่น โดยทางชาวบ้านมีความเห็นว่า ขอให้พวกเขาสามารถลงทะเบียนกับ กยท.ได้ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะทำกินกันมานานมากแล้ว และโปรดพิจารณาให้สิทธิ์ที่ทำกิน ในลักษณะการเช่าที่ถูกต้องตามระเบียบเพื่อไม่เสียสิทธิ์ในการช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตามสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังเสียสิทธิ์ในการรับการช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ อีกจำนวนมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินทำกินไร้เอกสารสิทธิ์แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขาสูงชัน และกรีดยางเลี้ยงชีพมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม