“ลดาวัลลิ์” ชี้การทำรัฐประหารส่งผลให้กระบวนการพัฒนารัฐธรรมนูญไทยถอยหลังลงคลอง เรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในประเด็นการพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทยผ่านรัฐธรรมนูญแล้วรู้สึกเศร้าใจ เพราะแม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วมากถึง 20 ฉบับ แทนที่จะมีการพัฒนาโดยเฉพาะในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง กลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม เมื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน
นางลดาวัลลิ์ กล่าวต่อว่า แม้กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายภาคส่วนก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในส่วนของเนื้อหา และในส่วนของกระบวนการด้านเนื้อหาออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดอ่อนที่สำคัญคือเรื่องโครงสร้างทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้เลือก ส.ส.ทั้ง 2 ประเภท ตือ ส.ส.แบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งเมื่อมองจากสภาพการณ์ปัจจุบันก็มีแนวโน้มความเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ถึงกับมีการเรียกกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง" เพราะทำให้รัฐเป็นใหญ่ สวนทางกับสังคมโลก ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
นางลดาวัลลิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังแก้ไขได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะต้องอาศัยเสียงทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้าน หนำซ้ำยังมีการวางกลไกเตรียมไว้เพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่เปิดช่องให้เกิดนายกฯคนนอก " ไปจนถึงให้ ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้งทั้งหมด มีส่วนในการเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส. ได้ในช่วง 5 ปีแรก นอกจากนี้บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้รัฐบาล คสช. เป็นผู้จัดทำกฎหมายสำคัญหลายฉบับ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปเป็ระยะเวลา 20 ปี และยังมี 6 ผบ.เหล่าทัพถืออำนาจรัฐประหารไปเป็น ส.ว.5 ปีและเป็น กก.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาจึงรู้สึกเศร้าใจอย่างมากที่ในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปี แทนที่เราจะเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่กลับสะดุดลงเพราะมีการใช้กำลังทำรัฐประหารก่อนมีการร่างรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ ต่อด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้ง เกิดความขัดแย้งในรัฐสภาจนนำสู่วิกฤติการณ์ทางการเมือง สุดท้ายก็มีการทำรัฐประหารอีก หรือที่เรียกกันว่า วงจรอุบาทว์การเมืองไทย ”นางลดาวัลลิ์ กล่าว
นางลดาวัลลิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเหมือนลิเกการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญปราบโกงแต่คนเขียนเผ่นหนีการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นคนแรก จึงอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้อำนาจในการทำรัฐประหารที่ต้องพึงสังวรว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยถอยหลังลงคลอง ฉุดให้ประเทศชาติล้าหลัง