กสทช. ประกาศแผนปี 62 เยียวยาทีวีดิจิทัล

2018-12-06 15:10:07

 กสทช. ประกาศแผนปี 62 เยียวยาทีวีดิจิทัล

Advertisement

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เห็นด้วยนโยบาย กสทช. ประกาศแผนปี 2562 เยียวยาผู้ประกอบการ เรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ผลักดันเทคโนโลยี 5G รับไทยแลนด์ 4.0


เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงหลังการประชุมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยมี พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เป็นประธานการประชุม โดยมีผู้บริหารและตัวแทนทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง เข้าร่วมในการแสดงความเห็น และเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนทีวีดิจิทัลให้เดินหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นช่วงปี 2563-2564 หากมีการจัดสรรคลื่นได้ตามโรดแม็ป รวมถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด


พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทุกรายเป็นผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ 700เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำ เพื่อใช้ออกอากาศในระบบดิจิทัล ดังนั้นการนำมาสู่เทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ทาง กสทช. จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 27(12/1) ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่2) โดยการเรียกคืนความถี่จากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทั้ง 24 ช่อง จะมีการสร้างกระบวนการใหม่ให้เกิดขึ้นในปี 2563 เร็วกว่ากำหนดเดิม 2 ปี มีการตั้งอนุกรรมการเข้ามาจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่อีกครั้ง ภายในไตรมาสที่ 2 กลางปีหน้า


นอกจากนี้ตามกฎหมายกำหนดให้ กสทช. มีวิธีการช่วยเหลือเยียวยา หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ประกอบที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบด้วย เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าร่วมการประมูล โดยจะเยียวยาคลื่นความถี่ทั้งผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลและผู้ให้บริการมัคหรือโทรทัศน์ช่องหลักภาคพื้นดินทั้งนี้การประมูลจะมีการประมูลล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในใบอนุญาต ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายของ กสทช โดยสามารถแบ่งชำระได้ เพราะหากผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำเงินมาจ่ายค่าประมูลจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุนที่จะประกอบกิจการ ส่งผลให้การบริการในเทคโนโลยี 5G ไม่สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล