“บิ๊กตู่”แจงคืบหน้าแก้ยางราคาตก

2018-11-30 21:15:09

“บิ๊กตู่”แจงคืบหน้าแก้ยางราคาตก

Advertisement

“บิ๊กตู่”แจงความคืบหน้าแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ทั้งบล็อกยางปูพื้น สร้างถนนยางพารา พร้อมส่งเสริมปลูกโกโก้ทดแทน

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า จากการติดตามมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขอเล่าความคืบหน้าให้พี่น้องประชาชนได้ฟัง เกี่ยวกับ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. แนวทางส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐปี 2561 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงต่างๆ และ กทม. สำรวจความต้องการ และพิจารณาปรับแผนงาน โครงการเพื่อให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้าง จากยางพาราเพิ่มมากขึ้น เช่น บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร ทางเท้า สนามเด็กเล่น ถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต และถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา โดยให้ประสานแจ้งความต้องการใช้ยางพาราต่างๆ ต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อนำยางพาราภายใต้โครงการรักษาเสถียรภาพราคา ที่มีต้นทุนการเก็บรักษางบใช้ประมาณภาครัฐปีละ 120 ล้านบาท มาผลิตตามโครงการต่างๆ ที่เสนอ ทราบว่าความต้องการเบื้องต้นจากหน่วยงานต่างๆ มีความต้องการใช้เครื่องนอนยางพารา รวม 450,000 ชุด ซึ่งจะใช้น้ำยางสดประมาณ 13,000 ตัน สำหรับการใช้ยางทำถนน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)ได้จัดทำรายละเอียดและระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวกับโครงการทำถนนงานยางพารา อาทิ สูตรผสมยางพาราที่ใช้สำหรับทำถนน รูปแบบ ประมาณการ โครงสร้างถนน และราคากลาง ไว้พร้อมสำหรับการดำเนินการในช่วงต่อไปแล้ว ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือกับกระทรวงมหาดไทยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เดินหน้าสร้างถนนยางพาราใน กว่า75,000 หมู่บ้าน และกว่า7,200 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งหลายจังหวัดได้เริ่มลงมือแล้ว เช่น จ.หนองบัวลำภู และอุทัยธานี และอีกหลาย 40 จังหวัดที่สนใจเตรียมดำเนินการอยู่ รวมถึงกรมชลประทานจะดำเนินโครงการสร้างถนนคันคลองชลประทานใน 53 จังหวัด เป็นการลดสต็อกยางโดยอัตโนมัติ ซึ่งการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐนี้ จะใช้น้ำยางพาราไม่น้อยกว่า 960,000 ตัน ถนน 1 กิโลเมตร ใช้น้ำยางพาราสด 12 ตัน และเมื่อมีความต้องการมากขึ้น คาดว่าจะทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น 5 บาทต่อกิโลกรัม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้นับว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากจะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามเป้าหมายและเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะไม่ใช่การแทรกแซงราคายาง หรือการซื้อชี้นำตลาด ที่ไม่ได้ทำให้ราคายางสูงขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากจะเสียเงินไปซื้อผลิตภัณฑ์ยางมาเก็บแล้ว ยังต้องมีค่ารักษาตามมาด้วย ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนในอดีต พบว่ามีการใช้งบประมาณในลักษณะดังกล่าว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2542-2561 ทำให้รัฐเสียงบประมาณไปจำนวนมาก ราว 1.8 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า 2. แนวทางการปลูกพืชทดแทน หรือแซมในสวนยาง เพื่อลดการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันตลาดภายในประเทศและตลาดโลกมีความต้องการผลผลิตโกโก้ มากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยเริ่มให้ความสนใจปลูกโกโก้กันมากขึ้น เพราะราคาซื้อขายค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืช ชนิด อื่นๆ แต่ต้องมีการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาดซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรของรัฐบาล ที่ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังฤดูการทำนา สำหรับแนวทางการดำเนินงานนี้ เพื่อสนับสนุนการปลูกโกโก้ทดแทนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปีหรือสวนยางที่ให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มต้นทุนการผลิตโดยให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ตามความเหมาะสม มาทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลด้านการตลาด พร้อมทั้งแนวโน้มต้องการในอนาคต ศึกษาสภาพพื้นที่ๆ ในการเพาะปลูกโกโก้ตามคุณภาพดิน ในภูมิภาคต่างๆ ที่เหมาะสมประมาณการต้นทุนและความยากง่ายเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาระหว่างเพาะปลูกและการแปรรูปโกโก้ออกเป็นผลผลิตสู่ตลาดตามห่วงโซ่การผลิตโกโก้ ก่อนที่จะจัดทำแผนการผลิตโกโก้

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า 3. โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ จากการสำรวจเกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดหลังนา เดือน ก.ย.และ ต.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และ สมาชิกลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ มากกว่า 1 แสน ราย จำนวน 160,000 กว่า แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1 ล้านกว่าไร่ ใน 33 จังหวัดโดย ณ วันที่ 22 พ.ย. 2561 มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดไปแล้ว 15 วัน มาขึ้นทะเบียนในโครงการแล้ว 84,090 ราย จำนวนเกือบ 130,000 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 7 แสนกว่าไร่ หรือคิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ปลูกแล้ว 71%โดยได้รับความร่วมมือจากพลังประชารัฐ อาทิ บริษัทเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 55 แห่ง ที่มีความต้องการข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ อีกจำนวนมาก ปัจจุบันปริมาณข้าวโพดในประเทศยังขาดแคลนและ ต้องการให้เพิ่มผลผลิตอีกปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งอาจจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มอีก 3-4 ล้านไร่ และหากสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีกปีละ 3 ล้านตัน ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรที่สามารถลดพื้นที่ทำนาแล้วหันมาปลูกพืชที่มีตลาดรับซื้อแน่นอน และได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็จะมีวัตถุดิบในประเทศที่เพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ และ ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ

“ทางสมาคมมีการกำหนดพื้นที่และบริษัทที่จะเข้าไปรับซื้อที่ชัดเจน จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึง 15 ม.ค. 2562 พร้อมให้ความมั่นใจว่าผลผลิตจากโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจะมีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน ขอให้ช่วยกันระมัดระวังพืชผลทางการเกษตรที่มีการลักลอบข้ามแดนเข้ามาด้วยนะครับ หน่วยงาน กองกำลังต่างๆจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เคร่งครัดนะครับ ไม่งั้นก็เข้ามาแทรกแซงทำให้ผลผลิตของเราราคาตกต่ำไปอีกด้วย”นายกฯ กล่าว