Thailand Web Stat

อย.แจงสถานะยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน”

2018-11-28 11:10:32

อย.แจงสถานะยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน”

Advertisement

อย.แจงกรณีปรับประเภทยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน” ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ จะปรับเฉพาะขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผง เท่านั้น โดยมีข้อกำหนดการบ่งใช้ชัดเจนในการแก้แพ้ ไม่ใช่อาการหวัด ต้องระบุข้อความ “ใช้เฉพาะโรคภูมิแพ้ ไม่ลดน้ำมูกในโรคหวัด” บนฉลากยาด้วย ยันมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจากคณะกรรมการยาซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงว่า จากกรณีข้อกังวลเกี่ยวกับการปรับลดสถานะควบคุมยาลอราทาดีน (Loratadine) นั้น อย. ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันพบว่ามีประชากรของประเทศไทยที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อาการของโรคจะพบตั้งแต่อายุยังน้อยและมักจะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว อาการของโรคมักจะมีน้ำมูก จาม คันจมูก คันตา จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น ซึ่งยารักษาอาการภูมิแพ้ในประเทศไทยจะมีทั้งยาสามัญประจำบ้านและยาอันตราย ยาทั้งสองกลุ่มนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ในการสั่งซื้ออยู่แล้ว ดังนั้น อย. จึงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และข้อดีของประชาชนที่จะได้รับจากการปรับลดประเภทยาดังกล่าวนี้ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในต่างประเทศยาลอราทาดีน จัดอยู่ในกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน สามารถหาซื้อได้สะดวกจากร้านค้าทั่วไป แต่สถานะของยาลอราทาดีนที่ อย. กำหนดในครั้งนี้ยังคงเป็นยาที่ต้องขายในร้านขายยา การปรับยาลอราทาดีนเป็นยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ จะปรับเฉพาะขนาดบรรจุแผงละไม่เกิน 10 เม็ด กล่องละไม่เกิน 2 แผง เท่านั้น ส่วนขนาดบรรจุอื่นยังคงเป็นยาอันตรายเช่นเดิม โดยได้มีข้อกำหนดการบ่งใช้ของยาไว้อย่างชัดเจนในการแก้แพ้ ไม่ใช่อาการหวัด และต้องระบุข้อความ “ใช้เฉพาะโรคภูมิแพ้ ไม่ลดน้ำมูกในโรคหวัด” บนฉลากยา ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้ยาผิดโรคและใช้ยาไม่สมเหตุผล

รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในด้านความปลอดภัยพบว่า ยาลอราทาดีนเป็นยาที่รักษาภูมิแพ้กลุ่มใหม่ ซึ่งอาการข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอนพบได้น้อย หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการง่วงนอนเลยหลังจากกินยานี้ ทำให้ไม่ส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะแตกต่างจากยารักษาภูมิแพ้กลุ่มเก่า ที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมาก ปากแห้ง คอแห้ง หรือปัสสาวะคั่งได้ ในด้านของการโฆษณาที่กังวลจะเป็นสาเหตุให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วการโฆษณาเป็นการสื่อสารให้ข้อมูลเรื่องยาต้องผ่านการตรวจสอบและผ่านการอนุญาตจาก อย. ก่อนเสมอ เพื่อให้ข้อมูลที่สื่อถึงประชาชนมีความถูกต้องเหมาะสม ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงทางเลือกใน การรักษาโรคภูมิแพ้อย่างปลอดภัย รวมถึงได้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณยา วิธีการใช้ยา และข้อควรระวังในการใช้ยา ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าการปรับประเภทของยาลอราทาดีน ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบจากคณะกรรมการยา ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิแล้วและมีการเฝ้าระวังติดตามผลข้างเคียงบนพื้นฐานของความปลอดภัย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองผู้บริโภค