เปิดเวทีถกกัญชารักษาโรค

2018-11-14 11:45:26

เปิดเวทีถกกัญชารักษาโรค

Advertisement

สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ อย. เปิดเวทีอภิปรายผ่อนปรนกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ "หมอโสภณ"ระบุคลายล็อกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น 


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่ห้องประชุม 1 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดงานอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ผ่อนปรนกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” มุ่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจตามมาจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง


การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการผ่อนปรนกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ในช่วงเช้ามีการอภิปรายร่วมกันในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์” นำโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง นพ.เมธา อภิวัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา นำเสนอในแง่มุมการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาในการรักษาโรค ทั้งในศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือก


นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  กล่าวว่า เป้าหมายในการอภิปรายคือการทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบถึงประโยชน์ทางการแพทย์ ข้อจำกัด และโทษของกัญชา และแนวทางการคลายล็อกข้อกฎหมาย จะเป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการ และตามที่ ครม. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.กัญชา โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อส่งกลับไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.ป พิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อให้กัญชาเป็นยาเสพติด ที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัยได้ ภายใต้ความปลอดภัย ซึ่งต้องมีกฎกระทรวงที่ตามมา


นพ.โสภณ ยืนยันว่า กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ จึงต้องมีระบบการควบคุม ซึ่งไม่ใช่การปลดล็อก แต่เป็นเพียงการคลายล็อกเพื่อที่จะเป็นไปตามขั้นตอน และไม่ถึงขั้นนำมาใช้เพื่อสันทนาการ และไม่สามารถปลูก หรือผลิตน้ำมันกัญชาใช้เองได้ ส่วนการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชานั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นผู้ดูแล และจะต้องดูว่าทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะปฏิบัติอย่างไรตามคำขอจดสิทธิบัตรของบริษัทเอกชน เนื่องจากสารสกัดจากพืช ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือร่วมกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด




ด้านนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเด็นการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น มีความหลากหลาย กระจัดกระจาย ตามสื่อต่างๆ รวมถึงมีการเรียกร้องให้ปลดล็อกหรือผ่อนปรนกฎหมายในเรื่องนี้ นำมาสู่การจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายกัญชา รวมไปถึงพืชเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ อย. จัดทำโครงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ตระหนักถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการอย่างรอบคอบและรวดเร็วที่สุด


นายนิยม กล่าวถึงการควบคุมพื้นที่การปลูกกัญชาว่า อยู่ระหว่างศึกษาในรายระเอียด ตั้งแต่สายพันธุ์ สภาพแวดล้อมการเพาะปลูก การนำมาสกัด เพื่อให้ได้น้ำมันมาใช่ในการแพทย์ และการนำมาใช้ทางการแพทย์ต้องมีการควบคุมอีกชั้น ที่ต้องรอบครอบและรัดกุม เพราะหากผิดพลาดจะเกิดผลเสียกับประชาชน ซึ่งการควบคุมพื้นที้จะมีความละเอียดอ่อนมากกว่าการปลูกกัญชง


จากนั้น ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายในหัวข้อ “การผ่อนปรนและแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์” โดยนายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ. โสภณ เมฆธน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ชี้แจงถึงขั้นตอนและความคืบหน้าของการปรับกฎหมายเพื่อผ่อนปรนการใช้กัญชาในการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ แนวทางการบังคับใช้กฎหมาย และแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์