เอ็นจีโออัดกรมทรัพย์สินฯปล่อยผีคำขอสิทธิบัตรกัญชา

2018-11-14 11:10:49

เอ็นจีโออัดกรมทรัพย์สินฯปล่อยผีคำขอสิทธิบัตรกัญชา

Advertisement

ภาคประชาสังคมแถลงตอบโต้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยผีคำขอสิทธิบัตรกัญชา 12 ฉบับทำชาติเสียหาย เสนอ อภ.-ม.รังสิต ฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เอาผิดอธิบดี พร้อมเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ได้แถลงข่าวตอบโต้ข้ออ้างของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำผิด พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่มีขั้นตอนการยกคำขอโดยกรมได้ ก่อนการประกาศโฆษณาเมื่อตรวจพบคำขอที่ขัดมาตรา 9 ซึ่งในกรณีกัญชา มีทั้งสารสกัดจากพืช การใช้เพื่อรักษาโรค แล้วอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังมาอ้างว่าไม่สามารถทำได้ โดยอ้างกระบวนการในต่างประเทศ ทั้งที่ผิดมาตรา 9 ทั้งสิ้น และและยังผิดขั้นตอบการรับและตรวจสอบกฏกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 แต่กลับละเลยปล่อยคำขอเหล่านั้นออกมา ซึ่งอาจสะท้อนนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล คสช.ด้วย นอกเหนือจากเป็นความบกพร่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของ รมว.พาณิชย์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย


ด้าน ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญา และการเข้าถึงยา ชี้ว่า จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่ 1.ฐานข้อมูลสิทธิบัตร ตั้งแต่เป็นข่าวสิทธิบัตรกัญชาจะเห็นได้ว่ามีการแถลงพบคำขอสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9 คำขอเป็น 10-12 คำขอแสดงให้เห็นว่า การที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องคำขอรับสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นเรื่องยากและไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอและต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ

2.ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร 2.1 คำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วแต่ยังไม่ประกาศโฆษณาในหมวดนี้ เนื่องจากคำขอที่เราสามารถสืบค้นได้จะเป็นเฉพาะคำขอที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว แต่จากข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาที่เราค้นเจอ พบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้เวลาที่ยังไม่เปิดเผยคำขอรับสิทธิบัตรนั้น (จากวันที่ยื่นคำขอรับฯ ถึงวันประกาศโฆษณามีตั้งแต่ 2-5 ปี ดังนั้น สาธารณชนหรือแม้แต่นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ยังมีอีกกี่คำขอที่ได้ยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วแต่ยังไม่ได้ยื่นประกาศโฆษณา ดังนั้นจึงขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งตรวจสอบคำขอที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมดตามมาตรา 28 พ.ร.บ.สิทธิบัตร คือ คำขอนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้รีบสั่งยกคำขอนั้น ส่วนคำขอใดที่เห็นว่าถูกต้องในขั้นตอนนี้ ให้รีบประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรับทราบ

2.2 คำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว จากคำขอที่ค้นพบ 12 คำขอพบว่าอยู่ระหว่างประกาศโฆษณา 6 คำขอ จึงขอให้อธิบดีปฏิบัติตามมาตรา 30 คือ เมื่อประกาศแล้ว ถ้าคำขอไม่ชอบด้วยมาตรา 5, 9, 10, 11 หรือ 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอสิทธิบัตรนั้น 2.3 คำขอรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ จากคำขอที่พบ 12 คำขอพบว่าอยู่ในระหว่างยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ 5 คำขอ ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งดำเนินการตามมาตรา 24, 25 ถ้าคำขอใดไม่มีความใหม่หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถคุ้มครองได้ตามมาตรา 9 ให้เริ่งยกคำขอนั้น

ผศ.ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์ กล่าวว่า ในคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาทั้ง 10 คำขอที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นมี 4 ฉบับที่ขัดต่อมาตรา 9(1) และมากถึง 5 ฉบับที่ขัดต่อมาตรา 9(1) และ 9(4) จึงต้องถูกยกคำขอโดยอำนาจของอธิบดี


ภาคประชาสังคมเสนอให้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ มหาวิทยาลัยรังสิตที่มีงานวิจัยและเตรียมขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ และขอให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ที่เห็นแก่ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเอาผิดเจ้าหน้าที่และอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และต้องลงมือปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา