กระทรวงการคลังหารือ เรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 16,000 ล้านบาท จากทักษิณ ชินวัตร ก่อนหมดอายุความสิ้นเดือนนี้
วันนี้กระทรวงการคลัง มีการประชุมหารือ
แนวทางในประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ จากนายทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรี กว่า 16,000 ล้านบาท
จากกรณีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชนให้แก่บริษัทเทมาเส็ก
โฮลดิ้งส์ พีทีอี จำกัด ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ รวมเป็นเงินกว่า
73,000 ล้านบาท
โดยการดำเนินการดังกล่าว
เป็นผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี
2553 ให้ยึดทรัพย์นายทักษิณ 46,000 ล้านบาท
และคำพิพากษาระบุว่าเจ้าของหุ้นที่แท้จริงคือ นายทักษิณ
และเมื่อมีการขายหุ้น ผู้มีเงินได้จากการขายหุ้น คือ นายทักษิณ ดังนั้น
เจ้าพนักงานประเมินภาษี จึงต้องแจ้งประเมินภาษีจากนายทักษิณ เท่านั้น
และไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ นางพินทองทา ชินวัตร
บุตรนายทักษิณได้เพราะผู้มีรายได้จากการขายหุ้น คือ นายทักษิณ
ส่วนการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยมีหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกรณี คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ยึดทรัพย์นายทักษิณ โดยให้ยึดมูลค่าหุ้นส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากวันที่นายทักษิณรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมดมาเป็นของรัฐก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขายหุ้นไปแล้ว ไม่มีรายได้ระหว่างรับตำแหน่ง จึงต้องหารือว่าจะทำอย่างไรให้เป็นธรรม
ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. ยืนยันว่า อายุความในการประเมินภาษีของนายทักษิณ กำลังจะหมดในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ทั้งนี้ สตง.จะทำหนังสือถึงกรมสรรพากรให้เร่งรัดจัดเก็บภาษีให้เรียบร้อยก่อนหมดอายุความ
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการจัดเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซว่า กรมสรรพากรนำโปรแกรมมาใช้มาตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบว่าเว็บไซต์ใดบ้างที่มีการเข้าไปเยี่ยมชมจำนวนมาก หลังจากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไปขอซื้อสินค้าเพื่อดูว่า ออกใบเสร็จเเละมีการเสียภาษีอย่างไร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างร้านค้าที่ขายทั่วไปกับขายออนไลน์ สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีมี จำนวน 2ล้าน 7 แสน ราย พบว่ามีการเสียภาษีไม่ถูกต้องกว่า 60 เปอร์เซ็นต์