ป้องกันและตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

2018-10-12 17:15:37

ป้องกันและตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

Advertisement

ในขณะที่อายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการพัฒนาเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ต่อมลูกหมากโตและโรคเบาหวานที่อาจขยายตัวทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยหลายคนที่มีการทำหน้าที่ของสมองลดลง - ตัวอย่างเช่นหลังจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด – สามารถพัฒนาเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ปัสสาวะเล็ดราดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้สามารถแนะนำด้วยการทำตารางเวลาการดื่มน้ำ ตารางเวลาการปัสสาวะ เสื้อผ้าดูดซับน้ำและโปรแกรมการขับถ่ายของลำไส้ ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินบางราย ยังมีปัญหาการควบคุมลำไส้ร่วมด้วยได้

ภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินซึ่งมีอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยได้ เช่น

• ภาวะอารมณ์เครียดหรือซึมเศร้า




• ความวิตกกังวล

• อาการนอนไม่หลับและรบกวนต่อวงจรการนอนหลับ



• ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์


แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาปัญหาและสภาพที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อดูว่าการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อสาเหตุที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้อาการระบบปัสสาวะดีขึ้นได้หรือไม่ ผู้ป่วยหญิงบางรายอาจมีความผิดปรกติที่เรียกว่าปัสสาวะกลั้นไม่อยู่แบบผสมผสาน คือมีอาการทั้งปัสสาวะเล็ดราดและปัสสาวะเล็ดขณะไอหรือจาม อาการปัสสาวะเล็ดขณะไอหรือจาม เป็นการปัสสาวะเล็ดออกโดยไม่ได้ตั้งใจ สาเหตุมาจากแรงดันหรือการหดตัวอย่างฉับพลันของกล้ามเนื้อในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย การยกของหนัก ไอ จาม หรือหัวเราะ การรักษาปัสสาวะเล็ดขณะไอหรือจามไม่ได้ช่วยให้อาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยสูงอายุอาจมีปัญหาร่วมกันระหว่างการจัดเก็บน้ำปัสสาวะ และ อาการปัสสาวะเล็ดราดอาจเกิดจากปัสสาวะออกไม่หมดก็ได้

การป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน 

ทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพดี อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้แก่ 

• การรักษาน้ำหนักที่ทำให้สุขภาพดี

• ออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่เหมาะสมเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ

• จำกัดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์




• เลิกสูบบุหรี่

• รักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆได้แก่โรคเบาหวาน ซึ่งอาจส่งผลต่ออาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

• เรียนรู้ตำแหน่งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แล้วเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงโดยการฝึกการออกกำลังกาย ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ( Kegel Exercise)

•ขมิบค้างไว้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วคลาย หลังจากนั้นให้เพิ่มระยะเวลาให้ขมิบนานขึ้นสามารถขมิบได้นาน 8 ถึง 10 วินาทีต่อครั้ง โดยให้ขมิบ 8 ถึง 12 ครั้งต่อ 1 ชุด และ ปฏิบัติให้ได้ 3 ชุด ต่อ วัน และควรปฏิบัติอย่างน้อย 3 ถึง 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลานาน 15 ถึง 20 สัปดาห์ เมื่อปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวได้แล้ว สามารถเพิ่มความแรงและระยะเวลาขมิบให้มากขึ้นได้

• หากต้องการให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีความแข็งแรงต่อไปในระยะยาว ควรปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน




หากผู้ป่วยมีอาการปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำ แพทย์จะตรวจดูให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีติดเชื้อหรือมีเลือดในระบบปัสสาวะ แพทย์อาจต้องตรวจให้แน่ใจว่าผู้ป่วยปัสสาวะออกอย่างสมบูรณ์และไม่มีปัสสาวะตกค้าง รวมทั้งค้นหาข้อมูลที่อาจบ่งบอกถึงปัจจัยที่มีส่วนร่วมของโรค จะมีการตรวจหาสาเหตุรวมถึง:

• ซักประวัติทางการแพทย์

• การตรวจร่างกายโดยมุ่งเน้นที่บริเวณหน้าท้องและอวัยวะเพศ

• เก็บปัสสาวะเพื่อทดสอบการติดเชื้อระบบปัสสาวะ

• การตรวจเลือดหรือความผิดปกติอื่น ๆในระบบปัสสาวะ

• การตรวจระบบประสาทที่เน้นปัญหาทางประสาทสัมผัสหรือการตอบสนองที่ผิดปกติ

การตรวจเพิ่มเติมพิเศษ

• แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจพลศาสตร์ระบบปัสสาวะ มีชื่อเรียกหลายแบบเช่นการตรวจยูโรพลศาสตร์หรือการตรวจ ยูโรไดนามิก

• เป็นการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะ ว่ามีการบีบตัวเป็นไปตามปกติหรือไม่ โดยทดสอบวัดแรงดันที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะว่าสามารถทนต่อการกักเก็บปัสสาวะระหว่างการใส่น้ำเข้ากระเพาะปัสสาวะได้หรือไม่ ซึ่งบ่งบอกความสามารถการกลั้นปัสสาวะของผู้ป่วย รวมถึงภาวะปัสสาวะเล็ดขณะเบ่งหรือไม่ การทดสอบประกอบด้วย:

• วัดปริมาตรปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังปัสสาวะเสร็จแล้ว

• การทดสอบนี้มีความสำคัญ หากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด หรือมีอาการปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะที่เหลืออยู่ หรือปัสสาวะที่ตกค้าง อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

• การวัดปัสสาวะที่ตกค้างหลังจากปัสสาวะ แพทย์จะให้ทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ บริเวณกระเพาะปัสสาวะเพื่อคำนวณปริมาตรของปัสสาวะที่ตกค้าง หรือใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อระบายและวัดปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่

• วัดอัตราการไหลของปัสสาวะ ในการวัดปริมาตรและความเร็วของการปัสสาวะ เครื่องตรวจวัดการไหลของปัสสาวะ ประกอบด้วย กรวยที่รับปัสสาวะของผู้ป่วย ซึ่งจะวัดปริมาตรปัสสาวะที่ถ่ายออกมาใน 1 วินาที แสดงผลและบันทึกข้อมูลเป็นกราฟของการเปลี่ยนแปลงอัตราการไหลของปัสสาวะ การไหลอย่างต่อเนื่อง เวลาที่วัดการไหลของปัสสาวะ การหยุดไหลชั่วคราว และช่วงเวลาที่ปัสสาวะทั้งหมด รวมทั้งเวลาที่ปัสสาวะหยุดไหล

• การตรวจดูความจุและแรงดันของกระเพาะปัสสาวะ เป็นการวัดความดันในกระเพาะปัสสาวะ และบริเวณโดยรอบระหว่างน้ำปัสสาวะไหลเข้าในกระเพาะปัสสาวะ ในการทดสอบนี้จะใช้สายสวนเพื่อใส่น้ำอุ่นเข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยอย่างช้า ๆ สายสวนอีกหนึ่งสายที่มีเซนเซอร์ตรวจวัดความดัน วางอยู่ในทวารหนัก หรือถ้าเป็นผู้หญิงวางในช่องคลอด ขั้นตอนนี้สามารถระบุว่ามีการหดตัวของกล้ามเนื้อโดยไม่ได้ตั้งใจหรือกระเพาะปัสสาวะแข็งที่ไม่สามารถจัดเก็บปัสสาวะได้ภายใต้ความกดดันต่ำ

• แพทย์จะตรวจสอบผลลัพธ์ของการทดสอบและแนะนำแนวทางการรักษาต่อไป

ศ. นท. ดร. นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล