ระทึกกลางอากาศ ยานโซยูสของรัสเซียขัดข้องเดินทางสู่ไอเอเอส จอดฉุกเฉินปลอดภัย

2018-10-12 08:05:01

ระทึกกลางอากาศ ยานโซยูสของรัสเซียขัดข้องเดินทางสู่ไอเอเอส จอดฉุกเฉินปลอดภัย

Advertisement

กระสวยอวกาศโซยูสของรัสเซีย เกิดขัดข้องระหว่างเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ร่อนลงจอดฉุกเฉิน นักบินอวกาศ 2 คนปลอดภัย

อุบัติเหตุครั้งสำคัญอีกครั้งของวงการสำรวจอวกาศโลก เมื่อจรวดโซยูสขององค์การอวกาศรัสเซีย นำนักบินอวกาศรัสเซียและนักบินอวกาศสหรัฐ รวม 2 คน ออกเดินทางจากฐานปล่อยจรวดในประเทศคาซัคสถาน เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดี เพื่อขึ้นไปสลับสับเปลี่ยนภารกิจทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 6 เดือน บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส ที่โคจรอยู่นอกโลก แต่จรวดเกิดการขัดข้องทางเทคนิค เกี่ยวกับระบบแท่งเชื้อเพลิงขับดัน หลังจรวดทะยานขึ้นจากฐานปล่อยได้ไม่นาน ทำให้ยานขนส่งนักบินอวกาศทั้ง 2 คนต้องย้อนกลับลงมาสู่พื้นแบบฉุกเฉิน แต่โชคดี นักบินทั้งสองปลอดภัย

จรวดโซยุส เอ็มเอส-10 ขององค์การอวกาศรัสเซีย "รอสคอสมอส" นำ 2 นักบินอวกาศ นายอเล็กซี ออฟชินิน ผู้บังคับการภารกิจของรอสคอสมอส และนายนิค เฮก จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือองค์การนาซา ออกเดินทางจากฐานปล่อยยานอวกาศไบโคนูร์ คอสโมโดรม ในประเทศคาซัคสถาน เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 11 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 15.40 น. วันเดียวกัน ตามเวลาในประเทศไทย




แต่หลังจากจรวดทะยานขึ้นจากฐานปล่อยได้เพียง 90 วินาที ศูนย์ควบคุมภารกิจบนพื้นโลกตรวจพบความดันลดลง ในแท่งเชื้อเพลิงแท่งหนึ่งของจรวดขับดัน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเดินทาง จึงตัดสินใจยุติภารกิจอย่างกระทันหัน และนำยานบรรทุกนักบินอวกาศทั้งสองกลับคืนสู่พื้นโลกแบบฉุกเฉิน ซึ่งการลงสู่พื้นประสบความสำเร็จ และนักบินอวกาศทั้งสองคนปลอดภัย

ทีมกู้ภัยและค้นหาของรัสเซียเผยว่า ยานขนส่งนำ 2 นักบินอวกาศ ลงสู่พื้นในเขตเมืองเชสคาซกัน ในคาซัคสถาน ห่างจากไบโคนูร์ คอสโมโดรม ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 500 กม. ทีมกู้ภัยไปถึงหลังจากยานลงแตะพื้นได้ไม่นาน และนำทั้งสองออกจากยานโดยปลอดภัย



รายงานของสำนักข่าวซีบีเอส นิวส์ ในสหรัฐ ระบุว่า รอสคอสมอสติดตั้งระบบฉุกเฉินในจรวดโซยูสไว้หลายระบบ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันระหว่างการออกเดินทางสู่อวกาศ และนักบินอวกาศรัสเซียทุกคนจะได้รับการฝึกฝน การกลับคืนสู่โลกโดยปลอดภัย จากทุกระดับความสูงก่อนถึงจุดหมาย

การเดินทางสู่ไอเอสเอสครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของเฮก ตั้งแต่เขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักบินอวกาศองค์การนาซา ในปี พ.ศ. 2556 แต่เป็นครั้งที่ 2 สำหรับออฟชินิน ซึ่งเคยปฏิบัติภารกิจบนไอเอสเอสครั้งแรกนาน 6 เดือน เมื่อปี 2559.