เอ็กซเรย์เรือนจำพบผู้ป่วยวัณโรค 3,905 ราย

2018-10-11 11:55:06

เอ็กซเรย์เรือนจำพบผู้ป่วยวัณโรค 3,905 ราย

Advertisement

กรมควบคุมโรคจับมือกรมราชทัณฑ์ เร่งค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำทั่วประเทศ ผลการเอกซเรย์ผู้ต้องขังในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ พบผู้ป่วย 3,905 ราย ซึ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่า



เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรค ยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยและองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีปัญหาวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยเป็นวัณโรค ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน แรงงานข้ามชาติ และบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคปี 2560 – 2564 ประเทศไทยตั้งเป้าลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12.5 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคนในปี 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 และให้เหลือ 10 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2578 หรืออีก 18 ปีข้าหน้า


นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการร่วมกันในปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อเร่งคัดกรองวัณโรคด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอกผู้ต้องขังทุกราย เป็นครั้งแรกในเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ผู้ต้องขังประมาณ 2.8 แสนคน เนื่องจากผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าคนทั่วไป 7-10 เท่า อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและรักษา


ด้าน พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กล่าวว่า วัณโรคในเรือนจำหากผู้ต้องขังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา โอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นๆ ในเรือนนอนได้ง่ายและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคดื้อยาเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานค้นหาวัณโรคเชิงรุกโดยเอกซเรย์ปอด 100% ในเรือนจำครั้งนี้ เมื่อพบผู้ป่วยวัณโรคแล้ว จะมีการแยกเรือนนอนผู้ป่วยระยะแพร่กระจายเชื้อ การดูแลผู้ป่วยโดยการให้กินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทุกวัน ผลการดำเนินงานในเรือนจำ เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยวัณโรค 3,905 ราย ซึ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่าของการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 2559 จำนวน 1,589 ราย และตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 83 ราย ซึ่งผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเร็วขึ้น โอกาสรักษาหายสูงขึ้น ตัดวงจรการแพร่เชื้อได้มากขึ้น และมีระบบควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโดยแยกผู้ป่วยมารักษาที่ห้องแยกโรค อีกทั้งผู้สัมผัสวัณโรคได้รับการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การดำเนินงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหยุดการแพร่เชื้อและป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยาแล้ว ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรค เพื่อป้องกันและเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยรักษาเร็วขึ้น