โอซาก้าตัดขาดความเป็น "เมืองพี่น้อง" กับซานฟรานซิสโก

2018-10-09 19:10:11

โอซาก้าตัดขาดความเป็น "เมืองพี่น้อง" กับซานฟรานซิสโก

Advertisement

โอซาก้า เมืองใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศตัดสัมพันธ์ความเป็น เมืองพี่เมืองน้อง (Sister City) กับซานฟรานซิสโก เมืองใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย บนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา หลังจากทางการเมืองซานฟรานยอมรับการบริจาค และติดตั้งแสดงอนุสรณ์สถานรูปปั้น "ทาสบำเรอกาม" สัญลักษณ์ตัวแทนหญิงสาวชาวเอเชียจำนวนมาก ที่ถูกบังคับเป็นทาสรองรับความใคร่ ทหารกองทัพลูกพระอาทิตย์ ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

รูปปั้นโลหะสำริด เป็นรูปหญิงสาวชาวจีน เกาหลีและฟิลิปปินส์ ยืนหันหลังจับมือกันเป็นวงกลมบนแท่น และมีรูปปั้นหญิงสูงวัยอีกคน ยืนมองอยู่ข้างล่าง ฝีมือการปั้นของ สตีเวน ไวท์ นักประติมากรรมชื่อดังชาวอเมริกัน แห่งเมืองคาร์เมล รัฐแคลิฟอร์เนีย ติดตั้งแสดงอยู่ที่ลานจัตุรัสเซนต์แมรี ย่านใจกลางเมืองซานฟรานซิสโก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560

ผู้ลงทุนจ้างช่างปั้นและบริจาคให้ทางการเมืองซานฟรานซิสโก เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ในนาม Comfort Women' Justice Coalition in San Francisco แต่การตั้งแสดง ชาวญี่ปุ่นมองว่าเป็นการ "ประจาน" ความเลวร้ายของญี่ปุ่นในอดีต เป็นการขูดแผลเก่าที่ควรจบกันไปแล้ว

เมืองโอซาก้าในฐานะที่ลงนามเป็นเมืองพี่น้อง จึงตัดสินใจแตกหักความสัมพันธ์มิตรภาพระหว่าง 2 เมือง ที่ดำเนินมาอย่างราบรื่นยาวนาน 60 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2500 เดิมทีทางการโอซาก้า มีแผนประกาศตัดสัมพันธ์ ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว หลังจากทางการซานฟรานไม่ฟังคำทักท้วง และเดินหน้าติดตั้งรูปปั้น แผนถูกเลื่อนมาจนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายฮิโระฟูมิ โยชิมูระ นายกเทศมนตรีโอซาก้า ประกาศว่า "ความสัมพันธ์บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจกันของเรา ถูกทำลายลงแล้ว" การตัดสินใจของโอซาก้า ถูกปฏิเสธอย่างทันควันจาก นางลอนดอน บรีด นายกเทศมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งของซานฟรานซิสโก ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการติดตั้งรูปปั้นฉาว โดยระบุว่า เป็นสิ่งสรรเสริญผู้หญิงทุกคน ที่ตกเป็นทาสกามอันน่าสะพรึงกลัว




บรีดกล่าวในแถลงการณ์ว่า "นายกเทศมนตรีคนหนึ่งไม่สามารถกระทำการโดยฝ่ายเดียว ยุติความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของเราทั้ง 2 เมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานถึง 60 ปี"

แต่เจ้าหน้าที่ในโอซาก้า ยืนยันว่า จะไม่กลับการตัดสินใจ "เราได้รับเสียงตอบรับทั้งสองทางจากพลเมืองของเรา แต่ส่วนใหญ่สนับสนุนการตัดสินใจตัดความสัมพันธ์" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าว และว่า ทางการโอซาก้าได้ส่งคำร้องโดยผ่านกระบวนการที่เหมาะสมแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการจากฝ่ายซานฟรานซิสโก



กรณีนี้รัฐบาลแห่งชาติในกรุงโตเกียว ได้ก้าวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรียกร้องทางการซานฟรานรื้อถอนรูปปั้น ที่มีคำจารึกเขียนไว้ที่ฐานว่า "สตรีและเด็กหญิงหลายแสนคน ตกเป็นทาสกามทหารกองทัพลูกพระอาทิตย์ ใน 13 ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างปี พ.ศ. 2474 - 2488"

กลุ่มนักประวัติศาสตร์กระแสหลัก กล่าวว่า มีผู้หญิงมากถึง 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ ถูกบังคับให้ทำงานใน "ซ่อง" ของกองทัพญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ผู้หญิงบำเรอกาม"

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ติดตั้งรูปปั้นทาสบำเรอกามทหารญี่ปุ่น ในที่สาธารณะของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะเกาหลีใต้และจีน ซึ่งติดตั้งหลายแห่ง เพื่อเป็นเกียรติแก่บรรดาหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อในอดีต รูปปั้นเหล่านี้สร้างความโกรธเคืองต่อรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่น ซึ่งพยายามกดดันให้รื้อถอน อย่างเช่น ในเดือน เม.ย.ปีนี้ รูปปั้นสำริดสัญลักษณ์ "ทาสบำเรอกาม" ถูกรื้อถอนออกจากริมอ่าวมะนิลา หลังจากทางการญี่ปุ่นได้แสดง "ความไม่สบายใจ" ไปยังรัฐบาลฟิลิปปินส์.