โนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ ดีที่สุดในรอบหลายปี

2018-10-09 14:35:58

โนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ ดีที่สุดในรอบหลายปี

Advertisement

รายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2561 ทั้งสิ้น 331 คน มีทั้งนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี, กลุ่มหมวกขาวในซีเรีย, หนังสือพิมพ์โนวายา กาเซตา ของรัสเซีย, นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ แต่ในที่สุด รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2561 ก็ตกเป็นของสาวอิรัก วัย 25 ปี และนรีแพทย์ วัย 63 ปี ซึ่งเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นอาวุธสงคราม อย่างเข้มข้น

นาเดีย มูราด ชาวยาซิดีอิรัก ถูกจับเป็นตัวประกัน, ถูกข่มขืน, ถูกทรมาน และถูกขายเป็นทาสบำเรอกาม โดยกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส ในปี 2557 เธอหนีรอดขุมนรกไอเอส และกลายเป็นผู้หญิงแถวหน้ารณรงค์ต่อสู้เพื่อเหยื่อความรุนแรงทางเพศในสงคราม ส่วนดร.เดนิส มูเควกี นรีแพทย์ จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ คองโก ประเทศบ้านเกิด เป็นผู้ริเริ่มผ่าตัดรักษาผู้หญิงหลายหมื่นคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกข่มขืนระหว่างสงครามในประเทศ 2 ครั้งเมื่อไม่นานมานี้

การประกาศรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ คณะกรรมการรางวัลโนเบลนอร์เวย์ แถลงว่า ทั้ง 2 คน ถูกเลือกให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ “จากความพยายามเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธสงคราม และความขัดแย้งทางอาวุธ และทั้ง 2 ไม่ได้ห่วงความปลอดภัยของตัวเองจากการต่อสู้อย่างกล้าหาญกับอาชญากรสงคราม และยืนหยัดรักษาความยุติธรรมเพื่อเหยื่อ”




หลังทราบข่าวนี้ มูราด กล่าวว่า “ฉันได้แบ่งปันรางวัลนี้ร่วมกับพี่น้องชาวยาซิดีทุกคน, ชาวอิรักทุกคน, ชาวเคิร์ดทุกคน และชนกลุ่มน้อยทั้งหมด และบรรดาผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศทั่วโลกด้วย ในฐานะที่เป็นผู้รอดชีวิตคนหนึ่ง ฉันรู้สึกปลื้มปีติสำหรับโอกาสนี้ ในการเรียกความสนใจจากนานาชาติให้หันมาใส่ใจชะตากรรมของชาวยาซิดี ซึ่งได้รับความทุกทรมานอย่างแสนสาหัสจากการก่ออาชญากรรมเกินที่จะจินตนาการได้ ตั้งแต่กลุ่มไอเอสฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเขา”

ส่วนเสียงชื่นชมก็หลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศสำหรับเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ รัฐบาลอิรัก ทวิตข้อความแสดงความยินดีและว่า ด้วยความนับถือสุดใจต่อมูราด พร้อมให้คำมั่นที่จะเดินหน้าตามพันธสัญญาในการสนับสนุนเหยื่อความรุนแรงทางเพศ จากฝีมือของกลุ่มไอเอส และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้รอดชีวิต



แยน เอจแลนด์ เลขาธิการสภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์ ซึ่งเป็นองค์การด้านมนุษยธรรม ที่ทำงานในตะวันออกกลาง ทวิตข้อความว่า รางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ ดีที่สุดในที่ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว เป็นการชี้ประเด็นให้เห็นถึงความรุนแรงทางเพศที่โหดร้ายน่าตื่นตระหนกและแพร่หลายในสงคราม

เคนเนธ ร็อธ ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ระบุว่า รางวัลนี้เป็นสิ่งที่คู่ควรและรอคอยมานาน

ในวัย 25 ปี มูราดเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อายุน้อยที่สุดเป็นคนที่ 2 ต่อจากมาลาลา ยูซัฟไซ ชาวปากีสถาน ซึ่งขณะได้รับรางวัลเธอมีอายุ 17 ปี และเป็นคนแรก ๆ ที่แสดงความยินดีต่อมูราด



โดนัลด์ ทัสค์ ประธานมนตรียุโรป กล่าวว่า เขาขอแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งที่สุดต่อทั้งมูราดและดร.มูเควกี สำหรับความกล้าหาญ, ความเห็นอกเห็นใจและมีมนุษยธรรม ที่พวกเขาได้แสดงให้เห็นในการต่อสู้ในแต่ละวัน

มูราด ลูกสาวของเกษตรกรชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดี อายุ 19 ปี เมื่อนักรบไอเอสได้บุกเข้าโจมตีหมู่บ้านของเธอในเมืองซินจาร์ ทางตอนเหนือของอิรัก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2557 พวกเขาจับชาวยาซิดี สังหารโหดไป 600 ราย ซึ่งรวมทั้งพี่น้องของมูราด 6 คน มูราดเป็นหนึ่งของผู้หญิงยาซิดีกว่า 6,700 คน ถูกไอเอสบังคับเป็นทาสกาม เพื่อบำบัดความใคร่ เธอถูกนำตัวไปยังเมืองโมซูล ที่ซึ่งเธอถูกข่มขืนและถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก

หลังจากทนทุกข์ทรมานกับสภาพความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจอยู่นาน 3 เดือน ความโชคดีก็มาเยือนเธอในวันหนึ่ง ในวันที่คนที่ควบคุมตัวเธอ ออกจากบ้านโดยลืมล็อกกุญแจ ทำให้เธอสามารถหลบหนีออกมาได้ มีครอบครัวใจดีครอบครัวหนึ่งช่วยเหลือพาเธอออกไปจากดินแดนยึดครองของไอเอส และเธอก็เดินทางไปจนถึงค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองดูฮ็อก ภาคเหนือของอิรัก

ในวันนั้นหลังจากที่เดินทางมาถึง เธอให้สัมภาษณ์กับนักข่าวบีบีซีคนหนึ่ง ซึ่งก็อนุญาตให้เธอปกปิดชื่อได้ แต่เธอปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า “ไม่, โลกจะได้รู้ได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา” เธอเปิดโปงภารกิจความโหดร้ายป่าเถื่อนของสิ่งที่นักรบไอเอสเรียกว่า “sexual jihad” หรือ “การทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ด้วยเซ็กซ์” ซึ่งก็คือการนำผู้หญิงมาตอบสนองความใคร่ให้นักรบไอเอสนั่นเอง และขอความยุติธรรมสำหรับเหยื่อที่เคยถูกย่ำยีในสงคราม



ในเดือนธันวาคม 2558 เธอได้สรุปเรื่องการค้ามนุษย์ครั้งแรกต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ซึ่งหลังจากนั้น 1 ปี สภายุโรป หรือซีอี ก็มอบรางวัล Vaclav Havel Human Rights Prize ให้เธอ ซึ่งเธอก็ใช้โอกาสในการรับรางวัลนี้ กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ พิพากษาการก่ออาชญากรรมของไอเอส และเธอยังได้เริ่มต้นยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อบรรดาแกนนำของกลุ่มไอเอสไปพร้อม ๆ กันด้วย

นอกจากนี้ ยูเอ็นยังได้แต่งตั้งให้เธอรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรี ฝ่ายกิจการผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ และเมื่อ 2 ปีก่อน เธอได้เริ่มโครงการ “ความคิดริเริ่มของนาเดีย” เพื่อทุ่มเทการสนับสนุนและความช่วยเหลือต่อเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การเข่นฆ่าป่าเถื่อนและการค้ามนุษย์ ขณะนี้ เธออาศัยอยู่ในเยอรมนี แต่ก็ได้รับคำขู่คุกคามเอาชีวิตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนดร.มูเควกี ก็ถูกขู่เอาชีวิตเช่นกัน เขาเคยรอดตายจากการความพยายามลอบสังหารในปี 2555 ซึ่งลูกสาวของเขาถูกจับเป็นตัวประกัน และบอดี้การ์ดถูกยิงเสียชีวิต หมอมูเควกีเห็นความทุกข์ความเจ็บปวดของผู้หญิงมาตั้งแต่เป็นหมอหนุ่มแล้ว ผู้หญิงไม่ได้รับการรักษาเยียวยาอย่างเหมาะสมเมื่อให้กำเนิดบุตร เขาก่อตั้งโรงพยาบาลปันซี ในเมืองบูคาวู ทางตะวันออกของดีอาร์คองโก ซึ่งเขาระบุว่า ผู้ป่วยของเขาส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ขัดแย้งและถูกข่มขืน อีกทั้งยังถูกทำให้พิการด้วย

มูเควกี พร้อมกับทีมงานของเขา ได้ช่วยเหลือผู้หญิงมากกว่า 85,000 คน นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำทางกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโรงพยาบาลของเขา หลังการรักษาแล้ว



ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อยูเอ็นในเดือนกันยายน 2555 เขาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลดีอาร์คองโก ที่ล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำความผิดในข้อหาข่มขื่นหมู่มาลงโทษ ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาถูกคนร้ายใช้ปืนจี้นอกบ้านพัก แต่ก็รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

นายแลมเบิร์ต เมนเด โฆษกรัฐบาลคองโก กล่าวยกย่องชื่นชมอย่างเสียไม่ได้ต่อรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนายมูเควกี แสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมชาติที่ได้รับรางวัลนี้

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ริเริ่มโดยอัลเฟร็ด โนเบล นักอุตสาหกรรมและนักประดิษฐ์ชาวสวีเดน โดยจะมีคณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอร์เวย์ เป็นผู้คัดเลือกผู้รับรางวัล มีพิธีมอบเป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1901 (2444) พิธีมอบรางวัลมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเสียชีวิตของอัลเฟร็ด โนเบล ที่กรุงออสโล โดยสมเด็จพระราชาธิบดีของนอร์เวย์เป็นผู้พระราชทานรางวัล ซึ่งรางวัลก็จะมีการมอบประกาศนียบัตรชั้นสูง, เหรียญเกียรติยศและเงิน 9 ล้านโครเนอร์สวีเดน หรือเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มีปัญหาโต้เถียงและขัดแย้งกันมาต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2444 ให้แก่ฌ็อง อ็องรี ดูว์น็อง ผู้ก่อตั้งสภากาชาด บางคนก็กล่าวหาคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลว่ามีการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง ในการมอบรางวัลด้วยความหวังส่งเสริมความสำเร็จในอนาคตมากกว่าที่จะดูผลสำเร็จในอดีต

เมื่อครั้งที่บารัค โอบามา ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับรางวัลนี้ในปี 2552 หลายคนรู้สึกว่า เขายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันคู่ควรที่จะได้รับรางวัล หลังเข้าสู่ทำเนียบขาวได้เพียง 10 เดือน และในอีก 6 ปีต่อมา นายเกียร์ ลุนด์สตัด อดีตเลขาธิการรางวัลโนเบล ก็เขียนในบันทึกความจำของเขา ยอมรับว่า แม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนโอบามาหลายคนก็เชื่อว่า เป็นความผิดพลาดในการมอบรางวัลนี้ให้โอบามา มีความรู้สึกว่า คณะกรรมโนเบลไม่ได้บรรลุสิ่งที่หวังไว้ ขณะเดียวกัน ก็สร้างความงงงวยในลักษณะเดียวกัน เมื่อสหภาพยุโรป หรืออียู ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2555

ด้านนางออง ซาน ซู จี ผู้นำเมียนมา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2534 แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับเผชิญปัญหาวิกฤตโรฮีนจา ไม่ได้จริงจังในการแก้ปัยหา จนมีกระแสเรียกร้องให้ริบคืนรางวัล

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จะไม่ถูกมอบให้ใครทั้งนั้น หากคณะกรรมการตัดสินว่า ไม่มีผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่คนใดมีความเหมาะสม เช่นในปี 2491 ซึ่งเป็นปีที่มหาตมะ คานธี ถูกลอบสังหาร เขาได้รับการเสนอชื่อในปีนั้น และในปี 2480, 2481, 2482 และ 2490 แต่ก็ไม่เคยได้

แต่ครั้งนี้ ดูเหมือนว่า จะไม่มีเสียงต่อต้านในกรุงออสโล ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ เมื่อนาเดีย มูราด จากหมู่บ้านในภาคเหนือของอิรัก และแพทย์จากชนบทห่างไกลในคองโก จะก้าวขึ้นโพเดียม รับรางวัลนี้ จึงถือว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ มีความเหมาะสมมากที่สุดและดีที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว