รู้จัก “หมีขอ” สัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์

2018-10-08 17:20:54

รู้จัก “หมีขอ” สัตว์ป่าคุ้มครองเสี่ยงสูญพันธุ์

Advertisement

กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ สำหรับกรณีกระแสข่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเตรียมสั่งการให้ “ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย” พ้นจากตำแหน่งและออกจากราชการไว้ก่อน หลังผลสอบสวนพบว่ามีเอี่ยวแก๊งออฟโรด “ล่าหมีขอ” อุทยานแห่งชาติไทรโยค

เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งข่าวสะเทือนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงคนรักษ์สัตว์ป่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวการล่า “เสือดำ” ซึ่งมีเหลืออยู่น้อยเต็มทีในป่า และ “หมีขอ” ก็จัดว่า เป็นอีกหนึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่แพ้กัน

หมีขอ เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับชะมด โดยเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนเสี่ยงสูญพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่า มีไว้ในครอบครอง ค้าขาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับ และจำคุกสูงถึง 4 ปี




หมีขอไม่ใช่หมี แต่เป็นสัตว์ตระกูลชะมด เหตุที่มีชื่อเป็นหมีอาจเพราะมีขนดำหยาบยาวคล้ายหมี บางตัวขนบริเวณหัวอาจเป็นสีเทา ความยาวหัวถึงลำตัว 61-96 ซม. หางยาว 50-84 ซม. หนัก 9-20 กก. เป็นสัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็นที่ใหญ่ที่สุด เล็บโค้งสั้น ตัวเมียมีหัวนม 4 หัว หมีขอมีต่อมฝีเย็บขนาดใหญ่ที่ผลิตสารกลิ่นฉุนที่ใช้ในการทำเครื่องหมาย หางของหมีขอยาวประมาณ 90 ซม .ใช้ยึดเกี่ยวกิ่งไม้หรือแม้แต่หยิบสิ่งของได้ ปลายหางซีกหนึ่งเปลือยเปล่าไม่มีขนเพื่อประโยชน์ในการยึดจับ นับเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลกเก่าที่มีหางแบบยึดจับได้

เมื่อตรวจสอบข้อมูลลงไป จะพบว่า หมีขอ มีชื่ออยู่ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ไม่มั่นคงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) โดยถูกจัดให้มีสถานถูกคุกคามในระดับที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์จากธรรมชาติ และมีชื่อใน พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด มีสถานะปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 



ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535ได้มีข้อกำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่ามีไว้ในครอบครอง ค้าขายและนำเข้าหรือส่งออก หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หมีขอ มีชื่อในภาษามลายูว่า บินตุรง (Binturong) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม้จะดูคล้ายหมีจนได้ชื่อว่าหมี โดยหมีขออาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งสาง เคลื่อนไหวเชื่องช้า อาศัยเพียงลำพัง หรืออาจอยู่เป็นครอบครัวที่มีลูกที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ในฝูงครอบครัวมีตัวเมียเป็นใหญ่ในฝูง สวนสัตว์แห่งหนึ่งในเยอรมนี พบว่าพ่อหมีขออาศัยร่วมกับลูก ๆ โดยไม่มีอาการก้าวร้าวแต่อย่างใด

ข้อมูลของกรมอุทยานฯ ระบุว่า แม้หมีขอจะอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ แต่หมีขอกินผลไม้เป็นอาหารหลัก เช่นเดียวกับ อีเห็น และอาจเป็นสัตว์ในกลุ่มอีเห็นที่กินผลไม้มากที่สุด มีบ้างที่กินซากสัตว์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ปลา นก ไข่ ใบไม้ ยอดอ่อน 



ส่วนการสืบพันธุ์นั้น หมีขอมีการผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี ตั้งท้องนาน 92 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว หมีขอตัวเมียจะมีเต้านมทั้งหมด 2 คู่ ลูกที่เกิดใหม่ยังไม่สามารถใช้หางเกี่ยวกิ่งไม้ได้เหมือนพ่อแม่และมีพฤติกรรมด้านการสืบพันธุ์ใกล้เคียงกับสัตว์ตระกูลแมว