เปิดงานวิจัยร้องทุกข์เรื่อง “เสียง” มากสุดทุกภูมิภาค

2018-10-05 14:45:09

เปิดงานวิจัยร้องทุกข์เรื่อง “เสียง” มากสุดทุกภูมิภาค

Advertisement

สกว. เผยผลวิจัยการศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชน พบเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียงมากที่สุดในทุกภูมิภาค นักวิจัยแนะประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเหตุ พัฒนาแอปพลิเคชั่นคัดกรองปัญหา และพัฒนาศักยภาพบุคลากร ชี้รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณและกำลังคนให้เพียงพอ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน หัวหน้าโครงการ “การศึกษาแนวทางการจัดการปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชน: กรณีเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียงและความขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา” ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากสถิติในปี 2558 พบว่า ข้อร้องทุกข์ที่มีการร้องทุกข์มายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ข้อร้องทุกข์ด้านสังคมและสวัสดิการ โดยส่วนใหญ่เป็นข้อร้องทุกข์เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุที่มีการร้องทุกข์มากที่สุด คือ เหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 32.98 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเหตุเดือดร้อนรำคาญทั้งหมด และเป็นข้อร้องทุกข์ที่พบมากที่สุดในทุกภูมิภาค

“ปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง มีทั้งการแจ้งเหตุที่เป็นการกลั่นแกล้งจำนวนมากโดยขาดการคัดกรองเบื้องต้นและการส่งต่อเอกสารใช้เวลานาน ทำให้เจ้าหน้าที่มีภาระมาก ปัญหาเสียงมีลักษณะหลากหลายและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย แต่ละหน่วยมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบแตกต่างกันไป เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอาจจะไม่ได้ถูกฝึกหรือมีทักษะในด้านการระงับความขัดแย้งโดยตรง”รศ.ดร.สิทธิเดช กล่าว




รศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวต่อว่า นักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งเหตุ คือ 1.ปัญหาเรื่องเสียงที่เป็นเสียงรบกวนแบบฉุกเฉินเกิดขึ้นฉับพลัน เช่น เสียงจากการมั่วสุมเมาสุรา ทะเลาะวิวาท แข่งจักรยานยนต์ หรือเสียงจากงานเทศกาลงานเลี้ยง ประชาชนที่ประสบปัญหาควรแจ้งไปยัง 191 หรือสถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาระงับเหตุได้ในทันที และ 2.ปัญหาเสียงรบกวนแบบเรื้อรัง เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น เสียงดังจากอู่ซ่อมรถ โรงงาน ร้านอาหาร สถานประกอบการ การก่อสร้าง สัตว์เลี้ยง ประชาชนควรแจ้งให้หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขตามกฎหมายที่ตนเองเป็นผู้รับผิดชอบ หากร้องเรียนแล้วไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาในกรอบเวลาที่แต่ละหน่วยงานกำหนด ควรแจ้งเรื่องไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ติดตามและประสานการดำเนินงานต่อไป โดยศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจไปยังประชาชน