คุ้มไหม? สังเวยชีวิตนับพัน ระบบเตือนภัยสึนามิอินโดฯห่วย

2018-10-01 13:45:53

คุ้มไหม? สังเวยชีวิตนับพัน ระบบเตือนภัยสึนามิอินโดฯห่วย

Advertisement

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.5 และคลื่นยักษ์สึนามิ ทำลายล้างชายฝั่งและเมืองบนเกาะสุลาเวสี ของอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด อยู่ที่อย่างน้อย 1,203 รายแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยยังคงพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงชุมชนต่าง ๆ ที่ถูกตัดขาดจากภัยพิบัติครั้งนี้ โดยคลื่นสึนามิ ซึ่งเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 500 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือกว่า 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซัดเข้าฝั่งสร้างความเสียหายในวงกว้างในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา

สุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวว่า การเข้าถึงเมืองดองกาลา และเมืองซีกี และบูตอง ที่ได้รับผลกระทบด้วย ยังคงเป็นไปได้อย่างจำกัด และยังไม่มีรายงานความเสียหายออกมาจากพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เป็นกังวลว่า ความเลวร้ายจะรออยู่เบื้องหน้า เพราะเมืองดองกาลา อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย แถลงว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ยินเสียงร้องข้อความช่วยเหลืออยู่ใช้ซากอาคารบ้านเรือนหลายหลัง ในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่พวกเขาพยายามช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารในช่วงกลางคืนจนถึงวันอาทิตย์




ในปี 2547 อินโดนีเซียเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา จุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทั่วมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 226,000 ราย ใน 13 ประเทศ รวมทั้งในอินโดนีเซียมากกว่า 120,000 ราย และหลังจากเกิดภัยพิบัติครั้งนี้ หลายประเทศก็ร่วมกันตั้งระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า ซึ่งรวมทั้งไทยและอินโดนีเซียด้วย

แน่นอน มีคำถามตามมาว่า ทำไมระบบเตือนภัยของอินโดนีเซียที่สร้างขึ้นหลังเกิดสึนามิในปี 2547 ขัดข้องเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายนูโกรโฮ ซึ่งออกมาโอดครวญว่าเป็นเพราะขาดเงินทุน กล่าวว่า อินโดนีเซียไม่มีทุ่นลอยเพื่อเตือนภัยสึนามิ ซึ่งเป็นอุปกรณ์แบบหนึ่งที่ใช้ในการตรวจจับคลื่น



สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ หรือบีเอ็มเคจี ของอินโดนีเซีย ประกาศเตือนสินามิ หลังแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ แต่ก็ยกเลิกภายในเวลา 34 นาที เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ว่ายกเลิกเร็วเกินไป อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ประเมินว่า คลื่นสึนามิซัดเข้าฝั่งขณะที่คำเตือนยังบังคับใช้อยู่

บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งออสเตรเลีย, ไทยและจีน เสนอให้ความช่วยเหลือ และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ประมุขแห่งคริสต์จักรนิกายโรมัน คาทอลิก ทรงตรัสต่อคริสต์ศาสนิกชนหลายพันคนที่จตุรัสเซนต์ ปีเตอร์ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ว่า พระองค์ทรงสวดมนต์อวยพรให้ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในอินโดนีเซียด้วย ส่วนสหภาพยุโรป หรืออียู ก็ประกาศให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเป็นเงิน 1.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ