ผ่าตัดปลูกถ่าย(เปลี่ยน)ไต ที่สุดของการให้

2018-09-29 11:00:23

ผ่าตัดปลูกถ่าย(เปลี่ยน)ไต ที่สุดของการให้

Advertisement

โรคไตวายนั้นป้องกันและรักษาได้ถ้ารู้เร็ว บางคนมีอาการเตือนมาก่อน เช่น ขาบวม ตาบวม ปัสสาวะมีฟอง สีเข้ม หรือ ปัสสาวะกลางคืน เลือดจาง คันตามตัว ผมร่วง ไม่ทราบสาเหตุ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการไม่มาก ทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที ทำให้เกิดไตวายระยะสุดท้าย สาเหตุที่สำคัญคือ การบริโภคอาหารเค็ม หวานจัด ไม่ออกกำลังกาย นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เก๊าท์ หรือบางคนใช้ยาแก้ปวด แก้อักเสบ สมุนไพรบางชนิด ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดไตวายในที่สุด

การรักษาไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทำได้โดยการใช้เครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้องทำหน้าที่ทดแทน อย่างไรก็ดีการผ่าตัดปลูกถ่ายไตยังเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว สามารถทำงานได้ มีครอบครัวและมีบุตรได้ โดยไตที่รับอาจได้จากผู้บริจาคเสียชีวิตที่สมองตาย เช่นเลือดคั่งในสมองจากอุบัติเหตุ หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตจากสมองตายจะอยู่ในอาการโคม่า ไม่รับรู้และจะมีลมหายใจอยู่อีกไม่นาน(ไม่กี่วัน) ซึ่งระยะนี้ หัวใจ ตับ ไต ยังทำงานได้ และญาติเท่านั้นที่จะอนุญาติให้บริจาคอวัยวะที่ยังใช้ได้เพื่อต่อชีวิตคนอื่นที่รอปลูกถ่าย ถือเป็นการทำบุญใหญ่ครั้งสุดท้ายของผู้บริจาค

อย่างไรก็ดี ไตบริจาคจากผู้เสียชีวิตที่มีสมองตายนั้นยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รอรับไต ทำให้ระยะเวลารอรับไตนั้นยาวถึงหลายปี เหตุนี้ทำให้ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้กระทั่งสามี ภรรยา ยอมสละไต 1 ข้างของตนเพื่อคนที่เรารัก และปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ผลดีมาก โอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า 90-95% ซึ่งไตจากญาติพี่น้องนั้นอายุการใช้งานของไตนานกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้เสียชีวิต เนื่องจากชนิดของเนื้อเยื่อไตมีความคล้ายคลึงกัน จึงทำให้โอกาสการต่อต้านไตน้อยลง ถ้าถามถึงความเสี่ยงของผู้บริจาคไตที่เป็นญาตินั้น ก็มีบ้างเช่นเสี่ยงต่อการผ่าตัด ซึ่งพบไม่บ่อย และการผ่าตัดเอาไตออกในปัจจุบัน ทำได้โดยการส่องกล้อง ซึ่งบาดแผลเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และนอนพักในโรงพยาบาลไม่ถึงสัปดาห์ก็กลับบ้านได้ ส่วนในระยะยาว




ผู้บริจาคก็มีอายุยืนยาวเท่ากับประชากรทั่วไปและการเกิดโรคไตไม่เพิ่มขึ้นกว่าประชากรทั่วไป ผู้บริจาคไตมักมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปรกติ รวมทั้งสุขภาพจิตดีที่ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้อง คนที่รักให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ดีผู้บริจาคไต ต้องได้รับการติดตามและดูแลรักษาโดยแพทย์ตลอดชีวิต โดยเฉพาะติดตามการทำงานของไตข้างที่เหลืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเฝ้าระวังโรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้บริจาคควรดูแลสุขภาพตนเองเช่น หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล และงดสูบบุหรี่

ส่วนผู้ได้รับการปลูกถ่ายไตยังคงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานยากดภูมิตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการต่อต้านไตใหม่ (เรียกว่า ภาวะสลัดไต) และระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ



ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ครบ 32 ปี และได้ทำการปลูกถ่ายไตปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนมากกว่า 2,000 ราย และปลูกถ่ายตับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนมากกว่า 200 ราย นับเป็นสถาบันที่มีจำนวนผู้ป่วยปลูกถ่ายไตมากที่สุดของประเทศ รวมทั้งปัจจุบันมีจำนวนผู้มารอปลูกถ่ายมากที่สุดของประเทศอีกด้วย ขณะเดียวกัน ทีมปลูกถ่ายไต รพ.รามาธิบดี ได้พัฒนาความสามารถในการปลูกถ่ายไต 2 ข้างพร้อมๆกันในผู้ป่วยรายเดียวเป็นแห่งเดียวในประเทศ ในกรณีไตบริจาคมีขนาดเล็กหรือไตจากผู้สูงอายุ รวมทั้งการปลูกถ่ายไตที่มีความสลับซับซ้อนจากการที่ผู้รับมีภูมิต้านทานสูง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ปลูกถ่ายไตและเพิ่มจำนวนการปลูกถ่ายไตในประเทศ 

ผศ. นพ. สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคไต
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล