กทม.คุมเข้มสวนสาธารณะป้องกันชายรักชายมั่วเซ็กซ์

2018-08-14 12:25:18

กทม.คุมเข้มสวนสาธารณะป้องกันชายรักชายมั่วเซ็กซ์

Advertisement

ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ล้อมคอกการใช้สวนสาธารณะ ป้องกันกลุ่มชายรักชายทำอนาจาร ทั้งเพิ่มความถี่ รปภ. ตรวจทุก 1 ชม. ติดป้ายห้ามทำอนาจาร ติดกล้องวงจรปิด เพื่อให้คนทำความผิดเกรงกลัว



เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับหัวหน้าสวนสาธารณะทั้ง 36 แห่ง ทั่ว กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงกรณีที่มีกลุ่มชายรักชายเข้าไปทำอนาจารในสวนสาธารณะว่า เตรียมที่จะทำการจัดระเบียบในแนวปฏิบัติใหม่ โดยที่ผ่านมาทั้ง 36 สวนสาธารณะ มีเจ้าหน้าที่องค์การทหารผ่านศึกดูแลอยู่รวม 507 คนในแต่ละสวน ซึ่งสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่จึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแล 50 คน โดยจะมี รปภ. คอยตรวจตราความเรียบร้อยแบ่งเวลาในการดูแล 2 รอบ คือ รอบเช้ากับรอบดึกตั้งแต่ 04.30-21.00 น.



นางวัลยา กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกันในการจัดการปัญหา ได้ข้อสรุปว่าจะเน้นการเพิ่มความถี่ในการดูแลมากขึ้น โดยจะเพิ่มความถี่และจำนวนของ รปภ. ในการกระจายการตรวจความเรียบร้อย จากหนึ่งชุดเป็น 2 ชุด ทุกๆ 1 ชั่วโมง การตั้งกล่องเขียวเพื่อเป็นจุดบันทึกในการตรวจสอบ ต้องมีการรายงานที่เป็นลายลักษณ์มากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนป้ายประกาศข้อห้ามและระเบียบการใช้สวน ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพิ่มข้อความภาษาอังกฤษเข้ามาในอนาคต รวมทั้งเพิ่มข้อห้ามเข้ามาทำอนาจาร ห้ามใช้โดรน จากเดิมเป็นข้อห้ามเรื่องการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การพนัน และจะติดกล้อง CCTV เพิ่มเติม เพื่อให้คนที่จะทำความผิดมีความเกรงกลัว และหาตัวคนทำผิดได้ง่ายขึ้น ต่อจากนี้ไปจะกำกับการใช้พื้นที่ห้องน้ำมากขึ้น รวมถึงป้ายต่างๆ จุดที่เป็นป้ายเล็กป้ายน้อย จะเพิ่มภาษาอังกฤษเข้าไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะเพิ่มเติมเข้าไปในระเบียบการใช้สวนสาธารณะของ กทม. และจะบังคับใช้ทันที





ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่า แนวทางการเพิ่มระเบียบการใช้สวนสาธารณะให้เข้มงวดมากขึ้นนี้ จะช่วยให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามองว่าปัญหานี้อาจจะเป็นเรื่องที่อาจจะมีหรือไม่มีในบางสวน หรือทุกสวนก็ได้ ส่วนเรื่องถุงยางอนามัยอาจจะมีที่ยังไม่ได้ใช้และเป็นการทำตกหล่น ยืนยันว่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีพฤติกรรมการร่วมเพศในสวนสาธารณะมาก่อน เพียงแต่เป็นลักษณะการจับมือ กอดกันของคู่รักเท่านั้น หลังจากนี้หากพบว่า มีเหตุทะเลาะวิวาท ชิงทรัพย์ หรือทำอนาจารเกิดขึ้น จะมีการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา ฝากสังคมให้ช่วยกันดูแล เพราะเพียงแค่ กทม. อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง และไม่สามารถห้ามบุคคลใดเข้าออกสวนสาธารณะได้ ดังนั้นสังคมต้องข่วยกันปลุกจิตสำนึกที่ดี เพราะสวนสาธารณะเป็นสถานที่ของครอบครัวและคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้นการเข้ามาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นความผิดปกติของจิตใจ หากคนกลุมนี้มาทำไม่ดีกับสวน ก็ถือเป็นคนไม่ดีในสังคม


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รปภ.สวนลุมพินี ชี้แหล่งซั่มกัน ชายรักชาย