"ชั่วกัปชั่วกัลป์" มันนานเท่าไรหรือ ? ...

2018-08-12 17:00:40

"ชั่วกัปชั่วกัลป์" มันนานเท่าไรหรือ ? ...

Advertisement

เคยดูละครช่องดังช่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวของคนทำบาปทำกรรมต้องตกนรกรับโทษทัณฑ์ที่เคยก่อไว้ โดย มัจจุราชได้พิพากษาให้คนเหล่านั้น อยู่ชดใช้กรรมตามขุมต่างๆ ในนรก "ชั่วกัปชั่วกัลป์" "กัลปาวสาน" ไอ้เราก็นึกๆๆ ว่ามันจะสักกี่ปีกี่ชาติกันถึงจะชดใช้หมดสิ้น แล้วได้กลับมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือตัวอะไรสักที ... วันนี้เรามีเฉลยเผยถึงความหมายทั้งหมดของข้อสงสัย ...ไปอ่านกัน



"กัป หรือ กัลป์" หมายถึง หน่วยนับช่วงระยะเวลาอันยาวนานของโลกตั้งแต่เกิดจนดับ มันยาวนานจนไม่สามารถกำหนดเป็นวัน เดือน ปี หรือเป็นตัวเลขได้ เป็นคำที่ส่วนมากพบในศาสนาพุทธ และฮินดู




คำว่า กัป มาจากภาษาบาลี ส่วนคำว่า กัลป์ มาจากภาษาสันสกฤต ทั้ง ๒ คำมีความหมายเหมือนกันว่า ระยะเวลาอายุของโลก คือ ระยะเวลาตั้งแต่สร้างโลกจนถึงเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกหมด เรียกว่า ๑ กัป หรือ ๑ กัลป์ เวลา ๑ กัป นั้น ท่านนับด้วยการเปรียบเทียบว่า มีที่แห่งหนึ่งกว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ มีกำแพงโดยรอบสูง ๑ โยชน์ เอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดบรรจุไว้ให้เต็ม ทุก ๑๐๐ ปี ให้เอาเมล็ดผักกาดออกไป ๑ เมล็ด เมล็ดผักกาดหมดจากที่นั้นเมื่อไร นับเท่ากับเวลา ๑ กัป เวลา ๑ กัป จึงเป็นเวลาที่นานเกินจะนับได้ ชั่วกัปชั่วกัลป์ หมายถึง ตลอดเวลาชั่ว ๑ กัป คือ เวลาชั่วอายุของโลกหนึ่งโลก ใช้เป็นสำนวน หมายถึง ระยะเวลาที่นานมาก เช่น คนโกงชาติอย่างนี้ขอให้ตกนรกชั่วกัปชั่วกัลป์ พวกที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงนี่ ฉันอยากจะแช่งให้ไปทนทุกข์ทรมานในนรกนานชั่วกัปชั่วกัลป์





แล้วถ้า "กัป" มันไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้หลายคนคงสงสัยว่าพอจะเปรียบเทียบได้หรือไม่ โชคดีที่ในพระไตรปิฎก ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามถึงเรื่อง "กัป" กับพระพุทธเจ้าไว้ดังนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค



[๔๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่ง นานเพียงไรหนอแล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ

ภิ. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้าฯ

[๔๓๐] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างว่า ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่ง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ



สรุปใจความก็คือ สมมติมีภูเขาหินแท่งทึบ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์ (1 โยชน์เท่ากับ 16 กิโลเมตร) ทุก 100 ปี มีคนเอาผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขาหินนั้นสึกกร่อนแบนราบ ก็ยังยาวนานไม่เท่ากับ "กัป"

จะเห็นได้ว่ายาวนานมากๆ ยาวนานชนิดว่านึกไม่ออกกันเลยทีเดียว (ลำพังมนุษย์เรา แค่รถติดสองสามชั่วโมงก็บ่นว่านานกันละ) แถมพวกเรายังเวียนว่ายตายเกิดกันมาไม่รู้อีกกี่ "กัป" จนนับจำนวนไม่ได้ แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว...





เพื่อให้เห็นภาพ (รบกวนทุกท่านดูภาพ) ทางเราได้ทำภาพเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าภูเขาหินลูกบาศก์ยักษ์สูง 16 กิโล นั้นใหญ่โตเพียงใด เรียกได้ว่าถ้าไปยืนใกล้ๆ คงมองไม่เห็นท้องฟ้า

ส่วนภูเขาที่อยู่ข้างๆ ก็คือเทือกเขา “เอเวอเรสต์” ที่มีความสูงที่สุดในโลก มีความสูงอยู่ที่ราว 8.8 กิโลเมตร ยังสูงได้แค่ครึ่งของภูเขาหิน

ตรงกลางด้านล่างของภูเขาหินจะเห็นสองขีดเล็กๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นรอยขนแมว แต่เปล่าเลย สองขีดเล็กๆ ถ้าซูมดูใกล้ๆ ด้านซ้ายคือตึกที่สูงที่สุดในโลก “บูร์จคาลิฟา” ความสูงอยู่ที่ 828 เมตร (ข้อมูลปี 2018)

ด้านขวาคือตึก “คิง เพาเวอร์ มหานคร” ตึกที่สูงที่สุดในไทย มีความสูงอยู่ที่ 314 เมตร (ข้อมูลปี 2018)



คิดดูละกันว่าเจ้าภูเขาหินนั้นใหญ่โตขนาดไหน แล้วทุก 100 ปี เอาผ้ามาลูบได้แค่ครั้งเดียว กว่ามันจะแบนราบ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

จะเห็นได้ว่าช่วงชีวิตของมนุษย์ถ้าเปรียบเทียบกับ "กัป" แล้วน้อยเสียกว่าช่วงเวลาฟ้าแลบเสียอีก

*คำว่า "กัป" หรือ "อายุกัป" ยังมีความหมายว่าช่วงอายุได้ด้วย เช่นในยุคพุทธกาล "1 อายุกัป" ของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี เรียกว่า "1 กัป"



นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณไว้ว่าโลกจะมีอายุขัยราว 10,000 ล้านปี ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้ว่าโลกของเราน่าจะมีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี ซึ่งถ้า 1 กัป เท่ากับ 4 อสงไข = กับว่าเวลาได้ผ่านไป 2 อสงไขแล้ว และถ้า 1 อสงไข เท่ากับ 64 อันตรกัป คิดเป็นตัวเลขต่ออันตรกัป 2,500,000,000 หารด้วย 64 =39,062,500 ปี

1 อันตรกัป = 39,062,500 ปี


ที่มา : โลกประหลาด, บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. , ราชบัณฑิตยสภา