เรียงร้อยความเป็นมา ต้นกำเนิด “วันแม่แห่งชาติ”

2018-08-11 16:00:52

เรียงร้อยความเป็นมา ต้นกำเนิด “วันแม่แห่งชาติ”

Advertisement

วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ด้วยตรงกับวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยจุดเริ่มต้นแห่งการถือกำเนิด “วันแม่” ขึ้นมาบนโลกใบนี้นั้น มีประวัติความเป็นมาเล่าว่า ผู้ที่กำหนดให้มี “วันแม่” อย่างเป็นทางการ และพยายามเรียกร้องให้มีวันแม่นั้น เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหญิงสาวชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า แอนนา เอ็ม. จาร์วิส คุณครูแห่งรัฐฟิลาเดลเฟีย แต่กว่าข้อเรียกร้องของเธอจะประสบความสำเร็จได้นั้น ใช้เวลายาวนานถึง 2 ปีเลยทีเดียว

หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2457 ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ได้มีคำสั่งให้ถือเอา วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และดอกไม้สำหรับวันแม่ของชาวอเมริกัน ก็คือ “ดอกคาร์เนชั่น” ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ถ้าแม่ยังมีชีวิตอยู่ให้ประดับตกแต่งบ้าน หรือประตูด้วยดอกคาร์เนชั่นสีชมพู แต่ถ้าแม่ถึงแก่กรรมไปแล้วให้ประดับด้วยดอกคาร์เนชั่นสีขาว

สำหรับความเป็นมาของ “วันแม่แห่งชาติ” ในประเทศไทย ได้มีการจัดงานวันแม่ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีงานวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน




ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ "ดอกมะลิ" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา