การท่องเที่ยวเชิงทำลาย "หมีขาว" สังเวยชีวิตสุดอนาจใจ

2018-08-09 11:45:15

การท่องเที่ยวเชิงทำลาย "หมีขาว" สังเวยชีวิตสุดอนาจใจ

Advertisement

แค่ลำพังหากินประทังชีวิตก็ยากแค้นแสนลำบากอยู่พอตัวแล้ว จนบางทีหลายชีวิตต้องจบลงด้วยความอดอยากอย่างน่าอเนจอนาถใจ แล้วยังมีเหล่านักล่าที่คอยจะทำร้ายทำลายชีวิตของพวกมัน อีกทั้งการถูกบุกรุกถิ่นอาศัยก็ยิ่งทำให้การดำรงชีวิตยากเข็ญเข้าไปอีก อย่างเหตุการณ์น่าสลดนี้เกิดขึ้นกับหมีขั้วโลกตัวหนึ่ง หลังจากเรือสำราญสัญชาติเยอรมัน Hapag-Lloyd Cruises ได้จอดเทียบท่าที่เกาะ Spitsbergen หนึ่งในหมู่เกาะ Svalbard ประเทศ Norway



โดยหลังจากนั้น ทางเรือสำราญได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ออกลาดตระเวนในพื้นที่ สอดส่องดูแลว่าในบริเวณนั้นไม่มีหมีขั้วโลกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวผู้โดยสารมากับเรือ






ซึ่งเหตุการณ์ไม่ง่ายอย่างที่คาดกันไว้ พวกเขาพลาดสายตาไปจากหมีขั้วโลกตัวหนึ่ง แล้วมันก็เข้าจู่โจมทำร้ายหนึ่งในเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่อีกรายจึงใช้ปืนยิงปลิดชีพหมีขั้วโลกตัวดังกล่าว ด้วยเหตุผลต้องป้องกันตัว





"เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อทีมป้องกันหมี 4 คน ที่จะอยู่ประจำบนเรือตลอด จะทำการสอดส่องจากบนเรือเท่านั้น แต่ในครั้งนี้เกิดเหตุผิดพลาด… หนึ่งในเจ้าหน้าที่ถูกหมีขั้วโลกทำร้าย แม้จะพยายามไล่แต่ไม่สำเร็จ จึงต้องใช้วิธีป้องกันตัว และรักษาชีวิตของผู้ที่ถูกทำร้ายเอาไว้ ทางเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้" บริษัทเรือสำราญกล่าวแถลงผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก 





ในปัจจุบันจำนวนของหมีขั้วโลกเหลืออยู่ประมาณ 22,000 – 31,000 ตัว และจำนวนจะถูกลดลงเรื่อยๆ จากปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจการท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบขั้วโลกเหนือ และจำนวนของหมีที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะใน Svalbard มีเพียง 3,000 ตัวเท่านั้น



ที่มา : cnn, time, theguardian, bbc

โดยล่าสุดนักวิจัยไทยได้เผยภาพหมีขั้วโลกหันมากินพืชแทนเนื้อสัตว์ หลังเกิดภาวะโลกร้อน จนกระทบการหากินของเหล่าหมีขาว ซึ่งปกติหมีขาวเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินเนื้อสัตว์พวกแมวน้ำเป็นอาหาร ประกอบกับจากการผ่ากระเพาะซากหมีขาวของนักวิจัยในพื้นที่ พบปริมาณของพืชมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันหมีขาวไม่สามารถล่ากินอาหารสัตว์ทะเลอื่นได้อย่างเพียงพอ





หลังจากทีมนักวิจัยไทยพร้อมคณะรวม 13 ชีวิต ได้เดินทางไปยังพื้นที่ขั้วโลกเหนือ เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือ ณ ทะเลอาร์กติก ภายใต้ความร่วมมือของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ล่าสุดทีมวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้เดินทางด้วยเรือปฏิบัติการ ถึงบริเวณชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก และดำน้ำเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล





จากการสำรวจและสังเกตการณ์ "ช่วงฤดูร้อน" พื้นที่ขั้วโลกเหนือขณะนี้ พบว่า ไม่เห็นน้ำแข็งในทะเล ภูเขาน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งมากนัก เมื่อเทียบกับฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ที่ยังเห็นแผ่นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งอยู่จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย


เก็บตัวอย่างหิมะเพื่อดูมลพิษและขยะขนาดเล็กที่ฝังอยู่

นอกจากนี้ ยังพบหมีขั้วโลกหันมากินพืชเป็นอาหาร เช่นเดียวกับกวางเรนเดียร์ที่กินสาหร่ายเป็นอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่า มีปริมาณสาหร่ายและแมงกะพรุนในทะเลเพิ่มขึ้นอีกด้วย



“คณะของเราพบเห็นแม่หมีขาวกับลูกกำลังกินพวกมอสและพืชเป็นอาหาร จากปกติหมีขาวเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินเนื้อสัตว์พวกแมวน้ำเป็นอาหาร ประกอบกับจากการผ่ากระเพาะซากหมีขาวของนักวิจัยในพื้นที่ พบปริมาณของพืชมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันหมีขาวไม่สามารถล่ากินอาหารสัตว์ทะเลอื่นได้อย่างเพียงพอ ทำให้ต้องหันมากินพวกพืชบนบกแทน ซึ่งการกินพวกพืชเป็นอาหารมากๆ จะทำให้หมีขาวมีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่แข็งแรง



นอกจากนี้การดำน้ำสำรวจในพื้นที่ขั้วโลกเหนือยังพบว่ามีปริมาณสาหร่ายจำนวนมาก อาจจะมาจากการที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้น้ำทะเลบริเวณนี้อุ่นขึ้นทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันยังพบแมงกะพรุน และหวีวุ้น (สัตว์จำพวกแมงกะพรุน) อยู่ในน้ำทะเลมาก แสดงว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้นจากในอดีต” รองศาสตราจารย์ ดร. วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมในฐานะหัวหน้าคณะนักสำรวจ



ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ของประเทศนอร์เวย์ พบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงฤดูหนาว หิมะตกน้อยลง น้ำแข็งไม่หนาพอ จึงทำให้ไม่สามารถใช้รถขับบนหิมะ หรือ Snow mobile วิ่งได้ และมีความเสี่ยงสูงต่อการที่มีหิมะถล่มในพื้นที่ต่างๆ และเกิดน้ำท่วม แสดงให้เห็นว่าที่ขั้วโลกเหนือ ณ ปัจจุบัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติมากเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งหรือหิมะมีน้อยมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน น้ำแข็งละลายไปเยอะมากกว่าปกติ



“อุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ มากกว่า 5 องศาเซลเซียส ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ขั้วโลกเปลี่ยน สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารได้เพียงพอ ทั้งนี้การดำน้ำที่ขั้วโลกเหนือในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับน้ำทะเลที่เย็นจัด อุณหภูมิเกือบศูนย์องศา แต่ในการดำน้ำต้องระวังหมีขาวและช้างน้ำ(walrus) ขั้วโลกด้วย เพราะอาจจะเกิดอันตรายถ้านักดำน้ำไปดำใกล้สัตว์เหล่านั้น




ที่สำคัญมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทางทีมดำน้ำได้ลงไปในบริเวณใกล้ธารน้ำแข็ง และเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำแข็งละลายสูงมาก ทำให้น้ำบริเวณดังกล่าวขุ่นมาก จากน้ำจืดของน้ำแข็งที่ไหลลงทะเล เมื่อทางทีมดำน้ำลึกลงไปประมาณ 2-3 เมตรตามปกติน้ำที่ระดับน้ำลึกลงไปน้ำทะเลต้องใสมากขึ้น แต่พื้นที่นั้นกลับขุ่นมากกว่าปกติ เมื่อทีมงานดำลงไปที่ความลึกระดับ 10 เมตรซึ่งเป็นระดับที่มีน้ำขุ่นมากและมีทัศนะวิสัยการมองเห็นใต้น้ำเพียง 0 เมตร อันตรายมากจนตนแอบคิดถอดใจที่จะได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าหากเรามองไม่เห็นแล้วดำน้ำต่อไปอาจจะพลาดตกไปในส่วนลาดชันใต้ทะเลที่มีระดับความลึก 40 เมตรได้ แต่สุดท้าย ทุกคนก็สามารถที่จะขึ้นมาจากน้ำได้อย่างปลอดภัย” รศ.ดร. สุชนา กล่าว




สำหรับการเดินทางของทีมนักวิจัยไทยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของการสำรวจขั้วโลกเหนือโดยนักวิจัยไทย ซึ่งเดิมเคยผ่านการเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้มาแล้ว โดยจะดำเนินการสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 และจะมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่ได้จากการปฏิบัติงาน สู่เยาวชนและประชาชนที่สนใจอีกครั้ง




ขอบคุณภาพ จาก Feanco Banfi / Barcroft media