ริมฝั่งโขงยังวิกฤต ชลประทานเร่งระบาย

2018-08-04 17:00:37

ริมฝั่งโขงยังวิกฤต ชลประทานเร่งระบาย

Advertisement

น้ำโขงยังวิกฤติ ชป.เร่งผันน้ำ อธิบดีกรมชลมั่นใจรับมือไหว พบพื้นที่ริมโขงถูกน้ำทะลักท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรเสียหายหนัก



เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขงยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ระดับอยู่ที่ประมาณ 12.30 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติ ประมาณ 13 เมตร ส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลัก ไหลระบายช้า เนื่องจากระดับน้ำโขงสูงทำให้ไหลระบายได้ช้า ส่งผลให้พื้นที่ตลอดแนวลำน้ำก่ำที่รับน้ำมาจากหนองหาร จ.สกลนคร ไหลผ่าน อ.นาแก อ.วังยาง สู่ อ.ธาตุพนม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วม ชุมชน พื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณจุดบรรจบระหว่างลุ่มน้ำก่ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บ้านน้ำก่ำ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เริ่มประสบปัญหาน้ำโขงหนุนลำน้ำก่ำ เอ่อท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ติดลำน้ำโขง กว่า 50 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ต้องระดมเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ อพยพขนย้ายสิ่งของ ขึ้นที่สูง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่การเกษตรริมโขง ได้รับความเสียหาย แล้วหลาย 100 ไร่






ขณะเดียวกันทางด้าน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักงาน ชลประทานที่ 7 ซึ่งดูแลระบายน้ำก่ำ ลงน้ำโขงบริเวณประตูน้ำก่ำตอนล่าง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้เร่งระบายน้ำก่ำลงสู่น้ำโขง พร้อมมีการติดตั้งเครื่อง เครื่องผลักดันน้ำด้วยระบบไฟฟ้า มากถึง 8 ตัว เพื่อให้การระบายน้ำโขงเพิ่มขึ้น จากประมาณ วันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 20-25 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการระบายของน้ำหนองหาร ที่ระบายมาวันละประมาณ 15-16 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำทั้งหมด รวม 19 อ่าง มีปริมาณน้ำเก็บกัก มากถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถระบายได้ หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก ซึ่งจะต้องมีการเร่งระบายน้ำให้มากที่สุดเตรียมรับมือปริมาณฝนที่จะตกลงมา และหากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีกในระยะเวลา ประมาณ 10 วันคาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติ







โดยทางด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตามสถานการณ์น้ำ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในการดูแลระบบชลประทาน รวมถึงพื้นที่ลำน้ำก่ำ ยอมรับว่าปีนี้ปริมาณน้ำสูง และไหลระบายช้า เพราะระดับน้ำโขง สูง แต่ยังมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานชลประทาน ดำเนินการเร่งติดตั้งระบบผันน้ำตามประตูระบายน้ำ ในลำน้ำก่ำ และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพิ่มมากขึ้น ให้ปริมาณระบายน้ำเพิ่มขึ้น บวกกับช่วงนี้ฝนหยุดตัก ถึงแม้ระดับน้ำโขงจะวิกฤติ แต่ยังสามารถระบายน้ำลำน้ำก่ำ ลงได้ หากฝนไม่ตกในระยะเวลา 10 วัน เชื่อว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทางกรมชลประทาน ได้มีความพร้อมในการรับมือ เชื่อมั่นว่าปีนี้จะไม่เกิดผลกระทบหนักกว่าปี่ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีปัญหาน้ำเอ่อท่วม แต่จะมีการระบายได้เร็ว นอกจากนี้ยังได้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแก้ปัญหาพนังกั้นน้ำ รวมถึงเส้นทางระบายลงน้ำโขง คาดว่าในปี 2562 จะสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเส้นทางระบายน้ำในลำน้ำก่ำลงสู่น้ำโขง เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว