กสม.หนุนแก้ ป.วิอาญา ป้องกันโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต

2018-08-02 17:35:43

กสม.หนุนแก้ ป.วิอาญา ป้องกันโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต

Advertisement

กสม. หนุน สนช. และสำนักงานศาลยุติธรรมแก้ไข ป.วิอาญา เหตุคดีจำนวนไม่น้อยโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งเอาเปรียบจำเลย

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระหว่างปี 2557 – 2560 และรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2560 กสม. พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยประสบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น หายตัวไป ถูกลอบสังหาร ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน โดยการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาเพื่อยับยั้งหรือข่มขู่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการกดดันให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจำต้องระงับการแสดงความคิดเห็น ยอมความ และยุติการตรวจสอบประเด็นสาธารณะ

นายวัส กล่าวต่อว่า กสม. ได้ติดตามร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีหลักการเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวและการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีอาญา ซึ่งมาตรา 8 แห่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความว่า “ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา




มาตรา 161/1 ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องคดีนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่”

นายวัส กล่าวว่า ที่ประชุม กสม. ได้พิจารณาหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการตราร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว เห็นสมควรสนับสนุนมาตรา 8 แห่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ให้เพิ่มมาตรา 161/1 พร้อมกับส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีและประธาน สนช. พิจารณาแล้ว ทั้งนี้หลักการในตราร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุว่า การฟ้องคดีอาญาในปัจจุบันปรากฏปัญหาว่า คดีจำนวนไม่น้อยที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ เช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยได้รับความลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทางไปต่อสู้คดี หรือการฟ้องจำเลยในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อต่อรองให้จำเลยต้องยอมกระทำหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการมิชอบ โดยเฉพาะการฟ้องร้องเพื่อคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยในการป้องกันตนเองหรือป้องกันประโยชน์สาธารณะ ทำให้มีคดีขึ้นสู่การไต่สวนมูลฟ้องของศาลเป็นจำนวนมากซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง