เล่าขานความเป็นมา “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

2018-07-29 07:30:24

เล่าขานความเป็นมา  “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

Advertisement

“ภาษาไทย” ที่เราใช้พูดคุย อ่าน เขียน กันอยู่ทุกวันนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” คือ วันแห่งการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นให้ชาวไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย

ทั้งนี้ ความเป็นมาของการถือกำเนิด “วันภาษาไทยแห่งชาติ” สืบเนื่องจากเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ ปัญหาการใช้คำไทย ” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า...

“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”  ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี




ด้วยเหตุนี้ ภาษาจึงเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ  เป็นสื่อที่ใช้ติดต่อกันเเละทำให้วัฒนธรรมอื่นๆ เจริญขึ้น เเต่ละภาษามีระเบียบของตนเเล้วเเต่จะตกลงกันในหมู่ชนชาตินั้น ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางของคนทั้งชาติ ดังข้อความ ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ความเป็นชาติโดยเเท้จริง" ความว่า

"ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์เเน่นเเฟ้นกว่าสิ่งอื่น เเละไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือเเน่นอนยิ่งไปกว่าภาษาเดียวกัน รัฐบาลทั้งปวงย่อมรู้สึกในข้อนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้น รัฐบาลใดที่ต้องปกครองคนต่างชาติต่างภาษา จึงต้องพยายามตั้งโรงเรียนเเละออกบัญญัติบังคับ ให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง เเต่ความคิดเห็นเช่นนี้ จะสำเร็จตามปรารถนาของรัฐบาลเสมอก็หามิได้ เเต่ถ้ายังจัดการเเปลง ภาษาไม่สำเร็จอยู่ตราบใด ก็เเปลว่า ผู้พูดภาษากับผู้ปกครองนั้นยังไม่เชื่ออยู่ตราบนั้น เเละยังจะเรียกว่าเป็นชาติเดียวกันกับมหาชนพื้นเมืองไม่ได้ อยู่ตราบนั้น ภาษาเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์เเน่นเเฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น"

ดังนั้นภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดี ให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติ คนไทยทุกคนใช้ภาษาไทยเป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ควรจะรักษาระเบียบความงดงามของภาษา ซึ่งเเสดงวัฒนธรรม เเละ เอกลักษณ์ประจำชาติไว้อีกด้วย ดังพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งว่า




"ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องสื่อสารเเสดงความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลกเเล้ว ยังเป็นเครื่องเเสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม เเละเอกลักษณ์ ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรมเเละภาษา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจ ช่วยกัน ผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้อุตส่าห์สร้่างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป"