เปิดร่าง ก.ม.ใหม่แจ้งความ ตร.ได้ทุกสถานี

2018-07-18 11:00:39

เปิดร่าง ก.ม.ใหม่แจ้งความ ตร.ได้ทุกสถานี

Advertisement

เปิดเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา แจ้งความตำรวจได้ทุกสถานี บัตรประชาชนหายไม่ต้องแจ้งความ สามารถไปแจ้งที่หน่วยงานของรัฐผู้ออกเอกสารที่เดียวได้เลย

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่จบวาระแรกแล้ว เหลือแต่เพียงนบทเฉพาะกาลบางประเด็นที่ต้องรอไว้ก่อนเพื่อรอข้อมูลสุดท้าย ขณะเดียวกันได้เริ่มต้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายกลางที่ยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญในขั้นตอนการสอบสวนคดีอาญาของข้าราชการตำรวจ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่ผ่านการพิจารณาแล้ว อาทิ ให้พนักงานสอบสวนในทุกสถานีมีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใดก็ตาม และเมื่อรับแล้วต้องสอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้และส่งไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว สำหรับกรณีแจ้งเรื่องเอกสารประจำตัวต่าง ๆ ซึ่งรัฐออกให้หาย ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แต่จะกำหนดให้สามารถไปแจ้งที่หน่วยงานของรัฐผู้ออกเอกสารนั้นที่เดียวได้เลย โดยกำหนดให้ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นที่จะต้องรับแจ้งและออกเอกสารใหม่ให้ผู้แจ้ง




นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาในรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะ ให้ผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของหรือควบคุมรถไฟหรือยานพาหนะขนส่งสาธารณะมีสิทธิร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในทุกสถานี ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่สถานีใด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ อยู่ระหว่างการหารือหาข้อสรุปเพื่อบรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.อีก เช่น กำหนดให้การสอบสวนอาจทำเป็นองค์คณะได้ กำหนดให้ในคดีที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษนั้น ๆ เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน หรือที่ปรึกษาพนักงานสอบสวนและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่าต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานของผู้ต้องหาไว้ในสำนวนคดีตั้งแต่ต้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะพยานหลักฐานที่ปรักปรำผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น