พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์! “หอยตะเกียง” อายุ 280 ล้านปี

2018-07-16 18:00:01

พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์!  “หอยตะเกียง” อายุ 280 ล้านปี

Advertisement

พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ หอยตะเกียงและสัตว์ทะเลเซลเดียวจำนวนมากที่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ คาดบริเวณนี้เคยเป็นทะเลน้ำตื้นมาก่อน ประมาณช่วงกลางยุคเพอร์เมียน 240-280 ล้านปีมาแล้ว

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.หนองไผ่ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ทหาร กองร้อยรักษาความสงบที่2 กองพันทหารม้าที่ 13 กองพลทหารม้าที่ 1 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล ต.บ้านโภชน์ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณเนินเขา ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านซับชมภู ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

จึงเดินทางไปตรวจสอบ ช่วงระหว่างหลัก กม.ที่ 7 ถนนสายบ้านโภชน์ - วังปลา บริเวณตรงข้ามกับทางเข้าสวนรุกขชาติน้ำตกซับชมภู (แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง) เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปในป่า ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ราว 200 เมตร ได้พบกับซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ สามารถมองเห็นเป็นรูปร่าง ลวดลาย ได้อย่างชัดเจน ฝังอยู่ตามแท่งหิน ก้อนหิน น้อยใหญ่ที่แตกหัก กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณเป็นวงกว้าง โดยส่วนใหญ่มองดูคล้ายกับลักษณะเปลือกหอย




และห่างกันจากจุดแรก ออกไปอีกราว 10 กิโลเมตร ที่บ้านซับเดื่อ หมู่ 6 ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ ก็มีการพบเห็นซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ลักษณะใกล้เคียงกัน ฝังอยู่ตามชั้นหิน และก้อนหินน้อยใหญ่ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน จึงได้ร่วมทำการสำรวจตรวจสอบ พร้อมเก็บภาพถ่าย เพื่อรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเบื้องต้น นายสมเจตน์ เรืองสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 เตรียมนำข้อมูล สถานที่ดังกล่าว เสนอเข้าสู่ โครงการท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาให้กับผู้ที่สนใจต่อไป

ด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ที่พบในพื้นที่อำเภอหนองไผ่แห่งนี้ เป็นฟอสซิลหอยตะเกียงสายพันธุ์ต่างๆ และ Fenestella ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลเซลเดียว พบอยู่ในชั้นหินปูน อันเป็นหลักฐานสำคัญว่า บริเวณแห่งนี้ เคยเป็นทะเลน้ำตื้นมาก่อน ประมาณช่วงกลางยุคเพอร์เมียน ราว 240-280 ล้านปีมาแล้ว



ซึ่งหอยตะเกียง หรือ Brachiopods (แบรคิโอพอด)นี้ เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีรูปร่างคล้ายหอย แต่ไม่ใช่หอย เป็นคนละชนิดกัน โดยจะมี 2 ฝาประกบที่ไม่เท่ากัน มีหลายชนิด หลายขนาด ในแต่ละแห่งที่พบ