สนช.ผ่าน 3 วาระรวด พ.ร.บ.คณะสงฆ์

2018-07-05 14:10:04

สนช.ผ่าน 3 วาระรวด พ.ร.บ.คณะสงฆ์

Advertisement

สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด สาระสำคัญ พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา ถอดถอนสมณศักดิ์ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตามที่ ครม.เสนอ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต่อที่ประชุม สนช.ว่า รัฐบาลคิดว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ต้องอยู่ที่มหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งในอดีตมีจุดอ่อนคือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งมีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาจะมีอายุมากและอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุมมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่ ดูโบราณราชประเพณี ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบัน จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีตสำหรับสาเหตุที่ต้องเร่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการให้ทันกับกรณีที่กรรมการ มส.ชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน

จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 217 เสียง ไม่เห็นชอบไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งการพิจารณาของ สนช.นั้น ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ แต่พิจารณา 3 วาระรวด ทั้งวาระรับหลักการ การพิจารณาเป็นรายมาตรา และให้ความเห็นชอบในวาระ 3 สำหรับสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีงาม โดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)




สำหรับองค์ประกอบของ มส. ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้ สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้น นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก