“The 33” เรื่องจริง ภารกิจช่วย 33 ชีวิตคนงานเหมืองใต้ดิน 700 ม.

2018-06-26 14:55:11

“The 33” เรื่องจริง ภารกิจช่วย 33 ชีวิตคนงานเหมืองใต้ดิน 700 ม.

Advertisement

ในขณะที่ภารกิจช่วยทีมฟุตบอลเด็กพร้อมโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังดำเนินไปจากความร่วมใจของหลากหลายทีมและการเอาใจช่วยของคนทั้งประเทศ นิว 18 ขอนำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยภารกิจช่วยชีวิตครั้งประวัติศาสตร์ที่ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก

ภาพยนตร์เรื่องที่ว่านี้คือ “The 33” (2558) ที่ถ่ายทอดเรื่องจริงจากภารกิจช่วยชีวิตคนงานเหมืองชาวชิลีจำนวน 33 คน ต้องติดอยู่ภายในเหมืองนานถึง 69 วัน





ภาพยนตร์จากการกำกับของ แพทริเซีย ริกเกน ถ่ายทอดเรื่องราวนับจากจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์แห่งความเป็นความตายครั้งนั้น ที่เหมืองทองและทองแดงที่ชื่อว่าซันโคเซ บริเวณใกล้กับเมืองโกเปียโป ประเทศชิลี เกิดอุบัติเหตุถล่มอย่างไม่คาดฝัน

เหมืองแห่งนี้เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายครั้ง รวมถึงมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว 1 ราย แต่ผู้บริหารเหมืองกลับไม่ให้ความสนใจและให้ทีมงานปฏิบัติงานไปตามปกติ ก่อนที่เหมืองจะถล่มลงในที่สุด ยังผลให้คนงานจำนวน 33 คนติดอยู่ในเหมืองใต้ดินด้านล่างที่ลึกลงไปเกือบ 700 เมตร ระหว่างวันที่ 5 ส.ค. – 13 ต.ค. 2553





การช่วยเหลือชีวิตคนงานเหมืองดำเนินไปท่ามกลางความร่วมใจของประชาชนชิลี โดยประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา แห่งชิลี กล่าวว่า ตัวเขายังมีความหวังว่า คนงานเหมืองทั้ง 33 คนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างปลอดภัยได้ในที่สุด แม้โอกาสรอดจะมีอยู่เพียงน้อยนิดก็ตามที ขณะที่รัฐบาลชิลี ได้ติดต่อคณะผู้เชี่ยวชาญจากเปรู สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ในการปฏิบัตการกู้ชีวิตคนงานเหมือง ทั้ง 33 คน



ระหว่างที่ความพยายามช่วยเหลือได้ดำเนินไป เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย เริ่มส่งสารอาหารจำพวกกลูโคส และน้ำ ลงไปให้คนงานเหมืองที่รอคอยอย่างมีความหวังท่ามกลางลมหายใจอันโรยริน ณ พื้นเบื้องลึกลงไปใต้ดิน






หลังจากผ่านไปนานกว่า 3 เดือนเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยก็สามารถใช้เครื่องมือขุดเจาะลงไปใต้พื้นดิน จนถึงตำแหน่งที่อยู่ของคนงานเหมืองได้สำเร็จ และหลังการส่งท่อกู้ภัย ซึ่งมีความยาว 624 เมตร ลงไปใต้ดินเสร็จสิ้น ภารกิจการช่วยชีวิตก็เริ่มต้นอย่างแท้จริง





เมื่อถึงวันที่ 12 ต.ค. เวลา 23:55 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายมานูเอล กอนซาเลซ เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็สามารถช่วยชีวิตคนงานคนแรกไว้ได้ ในเวลา 24:10 น. ตามเวลาท้องถิ่น คือ นายฟลอเรนซิโอ อวาลอส คุณพ่อลูกสอง โดยมีประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา แห่งชิลีได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีด้วยตนเอง พร้อมด้วยความยินดีของคนทั้งโลก ก่อนที่จะช่วยเหลือชีวิตคนงานเหมืองทั้ง 33 คน ครบเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2553 เวลา 21:55 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยคนงานเหมืองคนสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือคือ นายหลุยส์ อูร์ซัว วัย 54 ปี หัวหน้าคนงาน ที่สมัครใจรับความช่วยเหลือเป็นคนสุดท้าย



ก่อนหน้าที่ นายมานูเอล เจ้าหน้าที่กู้ภัยผู้เสียสละจะกลับออกมาจากแคปซูลแล้วเป็นคนสุดท้าย หลังอยู่ใต้เหมืองเพียงลำพังเป็นเวลา 26 นาที ปิดฉากภารกิจช่วยชีวิตคนงานเหมืองชิลีโดยสมบูรณ์





โดย “The 33” สะท้อนภาพให้เห็นถึงความสับสน สิ้นหวัง ความหดหู่ และสภาวะอันบีบคั้นของตัวละครคนงานเหมืองแต่ละคนในแต่ละชั่วนาทีแห่งชีวิตที่ผ่านไปได้อย่างสมจริง และแสนสะเทือนใจ ที่จับหัวใจผู้ที่ได้ชม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้ติดตามเหตุการณ์การช่วยชีวิตชาวเหมือง


ภาพจากเหตุการณ์จริง 

แต่ไม่ว่าจะเป็น “The 33” ก็ดี หรือเหตุการณ์การช่วย 33 ชีวิตที่เกิดขึ้นจริงในชิลีก็ดี ต่างก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงเหตุปัจจัยอันสำคัญที่สุดที่ทำให้ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ในที่สุดก็คือ ความร่วมแรงร่วมใจของคนภายนอก และพลังใจอันแข็งแกร่งของคนงานเหมืองทั้ง 33 คนที่ต่างกอปรขึ้นเป็น “สิ่งหนึ่ง” ซึ่งสามารถสอนใจให้กับเราทุกคนในการดำรงชีวิตได้มาจวบจนทุกวันนี้นั่นคือ


ภาพจากเหตุการณ์จริง โดย AFP

ตราบที่ไม่ทิ้งซึ่งความหวัง...ยังมีแสงสว่างรอคอยเราอยู่เสมอ...แม้แต่ในปลายอุโมงค์อันแสนมืดมนอนธการ