แจงเหตุ! “หอยเจดีย์” เกยหาดระนอง ไม่เกี่ยวสึนามิ

2018-06-24 11:50:30

 แจงเหตุ! “หอยเจดีย์” เกยหาดระนอง ไม่เกี่ยวสึนามิ

Advertisement

หัวหน้าสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยเหตุหอยเจดีย์จำนวนมากขึ้นมาเกยหาดประพาส จ.ระนอง เป็นเพราะช่วงมรสุม และมีปริมาณน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของหอยเจดีย์และสัตว์น้ำอื่นๆ บริเวณดังกล่าว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติสึนามิอย่างที่หลายคนวิตก


จากเหตุการณ์ที่มีหอยเจดีย์จำนวนมากขึ้นมาเกยหาด ที่หาดประพาส ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และมีชาวบ้านออกไปเก็บมาเพื่อทำอาหาร และมีความวิตกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับพิบัติภัยต่างๆ หรือไม่นั้น 

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล พบว่ายังคงมีชาวบ้านมาเดินเก็บหอยเจดีย์อยู่บ้างแต่ไม่มากนัก และได้พบกับ นายสุรินทร์ภรณ์ ศรีอินทร์ หัวหน้าสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยจิตอาสา อ.สุขสำราญ ประมาณ 50 คน ออกปฏิบัติการเก็บหอยเจดีย์คืนสู่ทะเล ช่วยชีวิตหอยขนาดเล็ก ซึ่งมีสภาพอ่อนแอ ไม่สามารถลงสู่ทะเลได้ด้วยตนเอง



นายสุรินทร์ภรณ์ ศรีอินทร์ กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่มีหอยเจดีย์หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า "หอยหลักไก่" ขึ้นมาเกยหาดประพาสเป็นจำนวนมากนั้นสันนิษฐานเบื้องต้นว่าในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีมรสุมเข้ามาในพื้นที่ทำให้มีน้ำจืดจากต้นน้ำไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก ซึ่งระยะห่างจากต้นน้ำถึงทะเลมีระยะทางเพียงสั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหอยเจดีย์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สัตว์น้ำในกระชังของชาวบ้านในคลองกำพวนหลายกระชังก็ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งพื้นที่ที่มีหอยเจดีย์ขึ้นมาเกยหาดนั้นเริ่มจากบริเวณปากคลองติดทะเลยาวมาตามชายหาดประมาณ 600 เมตร และหอยเจดีย์จะอาศัยอยู่ในทะเลโดยห่างจากชายหาดลงไปประมาณ 4-500 เมตร ซึ่งเป็นผลการสำรวจของทางสถานีฯเมื่อปีที่ผ่านมา

นายสุรินทร์ภรณ์ กล่าวต่อว่า จากเหตุมรสุมที่เกิดขึ้นช่วง 3 วันนั้น ทำให้คลื่นใหญ่ม้วนเข้ามาหาฝั่งและพาหอยเจดีย์และหอยอื่นๆ เข้ามาเกยหาดประพาสเป็นจำนวนมาก ในส่วนของหอยที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงพอก็สามารถกลับลงไปในน้ำได้ส่วนตัวที่ยังเล็กและอ่อนแอก็ไม่สามารถกลับลงไปได้บวกกับในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาคลื่นลมสงบ ก็มีชาวบ้านออกมาเก็บหอยเจดีย์หรือหอยหลักไก่เพื่อนำไปบริโภคตามปกติของวิถีชีวิตชาวพื้นบ้านแถวนี้อยู่แล้ว และเมื่อมีข่าวแพร่ออกไปก็มีชาวบ้านจากต่างถิ่นเข้ามาร่วมเก็บเพื่อนำไปจำหน่ายส่วนหนึ่งด้วย และวันนี้ทางสถานี จึงได้ร่วมกับจิตอาสาในการช่วยกันเก็บกู้หอยขนาดเล็กหรือหอยที่อ่อนแอที่ไม่สามารถกลับลงไปในทะเล ได้นำกลับลงไปในทะเลเพื่อฟื้นคืนชีพให้กับหอยเหล่านั้น



นายสุรินทร์ภรณ์ กล่าวอีกว่า ปริมาณหอยที่ชาวบ้านได้มาเก็บในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ประเมินได้ว่ามีปริมาณราว 12 ตัน ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในบริเวณนี้ และแน่นอนว่าในระยะสั้นก็อาจจะมีผลกระทบเรื่องปริมาณของหอยเจดีย์ แต่ในระยะยาวแล้วธรรมชาติของหอยเจดีย์ในบริเวณนี้ก็จะสามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาได้เอง

"ในส่วนของความกังวลเรื่องเหตุที่เกิดขึ้นว่าจะไปเกี่ยวข้องกับพิบัติภัยสึนามิหรือไม่นั้น ก็คงต้องบอกว่าไม่น่าจะเกี่ยวเพราะเป็นเรื่องของมรสุมผนวกกับปริมาณน้ำจืดที่ลงมาเยอะทำให้หอยไม่สามารถอยู่ในความเค็มที่ต่ำได้ จึงถูกคลื่นซัดมาเกยหาดประพาส เช่นเดียวกันกับหาดอื่นๆ ใกล้เคียงก็มีเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกัน รวมถึงสัตว์น้ำในกระชังของชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมากด้วย จึงขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" นายสุรินทร์ภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย