“ประหารชีวิต” โทษสูงสุดที่หายจากไทยกว่า 8 ปี

2018-06-19 12:45:16

“ประหารชีวิต” โทษสูงสุดที่หายจากไทยกว่า 8 ปี

Advertisement

นับเป็นข่าวที่สร้างความสนใจได้ในวงกว้าง สำหรับกรณีกรมราชทัณฑ์ได้ออกแถลงการณ์ถึงการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 ที่จังหวัดตรัง ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปีของไทย ท่ามกลางความพยายามรณรงค์ยกเลิกโทษประหารจากหลายฝ่ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ประเด็นนี้ได้กลายมาเป็นที่กล่าวขวัญ วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอีกครั้ง นิว 18 ขอนำเสนอเรื่องราวของ “โทษประหารชีวิต” โทษสูงสุดที่สูญหายไปจากสังคมไทยนานนับทศวรรษ






โทษประหารชีวิต หรือ อุกฤษฏ์โทษ เป็นกระบวนการทางกฎหมายซึ่งรัฐลงโทษอาชญากรรมของบุคคลด้วยการทำให้ตาย ปัจจุบันมีประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ทั้งหมดกว่า 50 ประเทศ โดยการประหารชีวิตเกือบ 90% ทั่วโลกเกิดในทวีปเอเชีย





ขณะเดียวกันก็มีบางหน่วยงานอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พยายามรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะถือเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล คือ “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารแล้วอย่างน้อย 140 ประเทศ โดยมีทั้ง ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกรูปแบบโดยนิตินัย, ยกเลิกโทษประหารชีวิตเฉพาะอาชญากรรมปรกติ แต่คงไว้สำหรับพฤติการณ์พิเศษ เช่น อาชญากรรมสงคราม และยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยพฤตินัย กล่าวคือไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตแล้วอย่างน้อยสิบปี และอยู่ระหว่างงดใช้โทษ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้นนับแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้มีการห้ามการประหารชีวิตบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีขณะก่อเหตุแล้ว มีเพียงประเทศอิหร่าน ซาอุดิอาระเบียและซูดานที่ยังประหารชีวิตลักษณะนี้อยู่





สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ว่างเว้นจากการลงโทษประหารมานานกว่า 8 ปีแล้ว โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นผลจากที่ไทยได้รับปากในที่ประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา ซึ่งขอร้องให้ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ทำได้เพียงไม่กำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับคดีใหม่ๆ และทยอยเปลี่ยนจากโทษที่บังคับให้ประหารชีวิตอย่างเดียวให้มีทางเลือกจำคุกตลอดชีวิตได้เท่านั้น


ภาพ AFP

ส่งผลให้ตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตจริง ซึ่งตามมาตรฐานของสหประชาชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนโลกถือว่าในประเทศที่มีโทษประหารชีวิตแต่ไม่มีการบังคับประหารใครจริงในระยะ 10 ปี ให้ถือว่าไม่มีโทษประหารชีวิต จวบกระทั่งการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดครั้งล่าสุดด้วยการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย ไทยจึงไม่อยู่ในข่ายยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยพฤตินัยไปโดยปริยาย




ภาพ AFP

สำหรับโทษประหารชีวิตในประเทศไทยนั้น จาก ข้อมูล ณ เดือนเม.ย. 2560 มีนักโทษต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมด 447 ราย จำแนกเป็นคดียาเสพติดให้โทษ ระหว่างชั้นอุทธรณ์ เป็นนักโทษชาย 105 ราย หญิง 51 ราย, ชั้นฎีกา เป็นชาย 12 ราย หญิงไม่มี และในชั้นเด็ดขาด เป็นชาย 55 ราย หญิง 13 ราย

โดยนักโทษประหารจะถูกควบคุมตามเรือนจำต่างๆ ดังนี้ เรือนจำกลางบางขวาง 275 คน เรือนจำกลางคลองเปรม 2 คน เรือนจำกลางเขาบิน 19 คน เรือนจำกลางสงขลา 31คน เรือนจำกลางพิษณุโลก 6 คน เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช 46 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 57 คน ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4คน และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 7คน





สำหรับวิธีการประหารชีวิตนั้นมีด้วยกันหลายวิธีนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โทษประหารชีวิต 21 สถานอันเป็นวิธีการโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งอ้างอิงไว้ในหนังสือกฎหมายตราสามดวง, การประหารชีวิตด้วยวิธีบั่นคอ ซึ่งถูกใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2462 กับ นายบุญเพ็ง ฆาตกรใจเหี้ยมโหดในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าของฉายา “บุญเพ็งหีบเหล็ก”


ภาพ AFP

สำหรับการประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้านั้นถูกใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2478 และใช้วิธีนี้ในการลงโทษนักโทษเด็ดขาดเรื่อยมาจวบกระทั่งรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2545 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2546 ซึ่งปลิดชีวิตนักโทษเด็ดขาดจำนวน 6 ราย เป็นชาย 4 ราย นักโทษคดียาเสพติด 3 ราย คดีความผิดต่อชีวิต 1 ราย


ภาพ felipe caparros / Shutterstock.com

โดยนักโทษประหารรายหลังสุดที่ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีนี้ก่อนหน้านักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ นั้นเป็นนักโทษเด็ดขาดและต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด 2 ราย ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552 หรือกว่า 8 ปีล่วงมาแล้ว