108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรค Panic ความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกทางกาย

2018-06-16 08:45:07

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : โรค Panic ความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกทางกาย

Advertisement

โรค Panic คือ โรคทางด้านจิตใจชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่เรียกว่า panic attack ซึ่งประกอบด้วยอาการทางกาย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น มือเท้าชา ตัวเย็น คลื่นไส้ มวนท้อง ปวดหัว ปวดตามร่างกายบางคนอาจมีอาการทางด้านอารมณ์-ความคิด เช่น กลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิตหรือเป็นอะไรที่ร้ายแรง รู้สึกควบคุมตนเองไม่ได้ หากมีอาการ panic attack บ่อย ๆ และไม่สามารถคาดเดาได้ ร่วมกับผลกระทบต่างๆ เช่น เฝ้ากังวลเกี่ยวอาการเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา หรือมีผลต่อพฤติกรรมเช่น ไม่กล้าออกไปไหน ต้องมีผู้อื่นไปด้วยจะเรียกว่าเป็นโรค panic อย่างไรก็ตามโรคนี้ควรมีการตรวจสาเหตุทางกายโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการส่งตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม หากไม่ได้มีสาเหตุทางกายที่อธิบายอาการต่าง ๆ จึงจะให้การวินิจฉัย



โรคนี้มักพบเจอได้ในวัยรุ่นตอนต้นจนถึงผู้ใหญ่ตอนปลายโดยพบได้ร้อยละ 3 ของประชากร ซึ่งกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มคนที่มักจะมีบุคลิกวิตกกังวลง่าย และพบในเพศหญิงมากกว่าชายประมาณ 2 ต่อ 1




สาเหตุที่ทำให้เกิดมีหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความวิตกกังวลหรือโรควิตกกังวลอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือมีลักษณะของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเร็วหรือไวกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบทางกายหลายๆ อย่าง เช่น ระบบหายใจ อาการมือเท้าเย็น แน่นหน้าอก หรืออัตราการเต้นของหัวใจ หรือการลี้ยงดูซึ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคง ขาดที่พึ่ง




ภาพ  Elvira Koneva / Shutterstock.com

โรคนี้สามารถรักษาได้โดยทั้งการใช้ยา และการปรับพฤติกรรมและความคิด การรักษาโดยยา ก็คือยาที่ใช้ในการรักษาเรื่องวิตกกังวล ร่วมกับยาคลายเครียดที่อาจต้องใช้เมื่อมีอาการรุนแรงจริง ๆ ในส่วนของการปรับพฤติกรรมนั้นจะมีตั้งแต่การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกด้านการหายใจ ฝึกปรับความคิดต่างๆ ซึ่งพบว่าจะช่วยลดอาการลงได้


ภาพ Kang Sunghee / Shutterstock.com



ในส่วนของวิธีดูแลตัวเอง แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามคุมสติเมื่อมีอาการ ซึ่งหากมีสติและรู้เท่าทันความวิตกกังวล ความกลัวและอาการต่างๆ ได้ ก็ช่วยในการรักษาด้านอื่นๆ ได้ดีขึ้น หรือใช้วิธีการบอกกับตัวเองว่า สิ่งที่เป็นนั้นเกิดมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เกิดอันตรายร้ายแรง นอกจากนั้นควรฝึกการหายใจและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ


ภาพ Chinnapong / Shutterstock.com

ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยก็มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้มาก โดยเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นว่าไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำหรือเรียกร้องความสนใจ เข้าใจว่าเมื่อมีอาการผู้ป่วยจะกลัวและวิตกกังวลมาก การให้กำลังใจและช่วยให้ผู้ป่วยมีสติจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ หากให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นหรือ มีโรคร่วมต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลอื่น ๆ จนกระทั่งมีผลกระทบต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างอาจมาพบแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป





ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล