โรคหัวใจ

2024-10-03 10:39:43

โรคหัวใจ

Advertisement

โรคหัวใจ

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า โรคหัวใจ และหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ในเอเชียพบจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากที่สุด เช่นเดียวกับสัดส่วนของคนไทยที่มีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี โรคหัวใจมีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำอย่างไรเราถึงจะมีสุขภาพดีห่างไกลจากโรคนี้

โรคหัวใจคืออะไร

โรคหัวใจ คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

-เส้นเลือดหัวใจตีบ

-ลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว

-กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

-ระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ

-หัวใจพิการแต่กำเนิด

อาการของโรคหัวใจ

อาการของโรคหัวใจแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน โดยส่วนมากคนไข้จะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในรายที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจะมีอาการท้องโต ขาบวม นอนราบไม่ได้

สาเหตุของโรคหัวใจ

สาเหตุของโรคหัวใจขึ้นอยู่กับประเภทของโรคหัวใจ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ โรคประจำตัว หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ

-อายุที่มากขึ้น ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลงตามวัย

-โรคประจำตัว คนที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

-การสูบบุหรี่ สารที่อยู่ในบุหรี่ทำให้เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อม ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือด

การดูแลสุขภาพเมื่อเป็นโรคหัวใจ

ใช้หลักการดูแลสุขภาพแบบทั่วไปและปฏิบัติได้ไม่ยาก ดังนี้

-กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ การกินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ จะช่วยเสริมสมรรถภาพการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 5-7 วัน/สัปดาห์ นาน 30 นาทีขึ้นไป จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น และควบคุมให้ไม่เกิดภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบและหัวใจล้มเหลว

-งดอาหารเค็ม อาหารเค็มก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด เส้นเลือดหัวใจตีบ และหัวใจล้มเหลวตามมาได้

-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบและภาวะหัวใจล้มเหลว

-ไม่เครียด นอนให้เพียงพอ

แม้โรคหัวใจจะเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน แต่หากเราดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

อ.นพ.บัณฑิต นราตรีคูณ

สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล