ความดันโลหิตต่ำ
ความดันโลหิตต่ำ คืออะไร ?
เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยทั่วไปภาวะ ความดันโลหิตต่ำ ที่ไม่มีอาการ มักไม่อันตราย และไม่ได้นำไปสู่โรคเรื้อรัง สามารถตรวจพบความดันโลหิตต่ำได้โดยบังเอิญในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปร่างผอม พักผ่อนน้อย แต่ในบางกรณี เช่น ผู้สูงอายุที่อาจพบมีความดันโลหิตต่ำได้ในช่วงเปลี่ยนอริยาบถก็นำไปสู่การหกล้มซึ่งเกิดอันตรายได้ หรือในบุคคลทั่วไปที่มี ความดันโลหิต ต่ำร่วมกับมีภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง หรือเป็นความดันโลหิตต่ำที่มีอาการแสดง เช่น วิงเวียน หน้ามืด ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะที่อาจคุกคามต่อชีวิต ซึ่งควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้การประเมินและรักษาตามสาเหตุต่อไป
สาเหตุความดันโลหิตต่ำ ความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-การเปลี่ยนท่าทางของร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น ลุกหรือนั่งแบบกะทันหัน
-ความเครียด การพักผ่อนน้อย
-การมีรูปร่างผอมบางเกินไป
-ปัจจัยด้านพันธุกรรม
-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือดจาง โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อ
-การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันเลือด ยาขับปัสสาวะ
-การสูญเสียสารน้ำในร่างกาย เช่น การเสียเหงื่อ อุจจาระร่วง การสูญเสียเลือด เช่น การเสียเลือดจากอุบัติเหตุ
อาการความดันโลหิตต่ำ
-วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด วูบ
-เห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพซ้อน
-ใจสั่น
-อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
-ร่างกายขาดน้ำ
-คลื่นไส้
-ซึม สับสน กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ
อันตรายของความดันโลหิตต่ำ
ภาวะความดันโลหิตต่ำที่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบได้โดยบังเอิญ มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแสดงบางอย่าง เช่น หน้ามืด วิงเวียน วูบ ใจสั่น ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือกรณีตรวจพบความดันโลหิตต่ำร่วมกับมีไข้ มีประวัติเสียเลือดหรือสารน้ำในร่างกายอย่างฉับพลัน ควรเข้าพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อก
ภาวะแทรกซ้อน เมื่อมีความดันโลหิตต่ำ
เนื่องจาก ความดันโลหิต คือค่าความดันที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เมื่อผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การหกล้ม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในผู้สูงอายุ นอกจากนี้การมีความดันโลหิตต่ำที่มีอาการร่วมกับการมีภาวะความเจ็บป่วยบางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อก
ดูแลร่างกายเมื่อความดันโลหิตต่ำ
กรณีที่ตรวจพบความดันโลหิตต่ำโดยที่ไม่มีอาการ หรือไม่มีภาวะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วม สามารถให้การดูแลตนเองได้เบื้องต้น ดังนี้
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-หลีกเลี่ยงความเครียด
-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่านั่งหรือยืนอย่างรวดเร็ว
วิธีรักษาเมื่อเป็น ความดันโลหิตต่ำ
วิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก กรณีตรวจพบความดันโลหิตต่ำโดยไม่มีอาการใด ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีภาวะความดันโลหิตต่ำร่วมกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ หรือมีความดันโลหิตต่ำร่วมกับมีอาการแสดง เช่น วูบ วิงเวียน ใจสั่น จำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อสืบค้นหาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป เช่น การให้สารน้ำทดแทนในผู้ที่มีการสูญเสียสารน้ำในร่างกาย การปรับยาที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ
อ.พญ.ณัฏฐากร พงศ์เศรษฐ์กุล
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล