โพลระดับโลกชี้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 ใน 4 คน เชื่ออันตรายเท่าบุหรี่มวน

2024-06-11 17:28:01

โพลระดับโลกชี้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 ใน 4 คน เชื่ออันตรายเท่าบุหรี่มวน

Advertisement

โพลระดับโลกชี้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 ใน 4 คน เชื่อบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเท่าบุหรี่มวน "หมอประกิต" ห่วงเด็กติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า เหตุสูบง่าย สูบบ่อยกว่าบุหรี่มวน อันตรายทำลายสมอง ระบบประสาท หยุดการพัฒนา ส่งผลควบคุมอารมณ์ สมาธิ การเรียนรู้ พร้อมรับสารเสพติดอื่น ๆ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 67 ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข่าวที่เอเอฟพี เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา รายงานผลการสำรวจโดย Ipsos Poll สำรวจผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจาก 28 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป เอเซีย ออสเตรเลีย อเมริกา แอฟริกา ประเทศละ 1,000 คน ยกเว้น 2 ประเทศ ที่สำรวจ 500 คน และ 450 คน รวม 26,950 คน ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 74% หรือ 3 ใน 4 ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายเท่าบุหรี่มวน ยกเว้นในอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ และสาธารณะเช็ค ที่ผู้สูบเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน โดยในข่าวยังระบุด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ควรจัดให้บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่มวน มีอันตรายต่อสุขภาพเท่ากัน ทั้งนี้ ผลการสำรวจนี้มีความสำคัญมาก เพราะมาจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีประสบการณ์ตรงที่พบกับตัวเองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยและรายงานผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยรวมแล้วบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน หากคำนึงถึงการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่ลงไปถึงเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา และงานวิจัยแสดงว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีอาการติดนิโคตินรุนแรงกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่มวน เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้รับนิโคตินในปริมาณที่มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่มวน ผลจากการที่บุหรี่ไฟฟ้ามีกลิ่นหอม สูบง่ายกว่าและสูบได้ตลอดเวลา

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า นิโคตินในทางการแพทย์จัดเป็นสารพิษต่อสมองและระบบประสาท (neurotoxin) ซึ่งแมลงที่ตายจากยาฆ่าแมลงที่มีนิโคติน เป็นผลจากระบบประสาทได้รับอันตรายจนหยุดหายใจ (respiratory paralysis) เช่นเดียวกับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ทำอันตรายต่อสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและวัยรุ่น ที่จะพัฒนาไปถึงอายุ 25 ปี ทำให้มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ สมาธิ การเรียนรู้ และทำให้สมองมีความพร้อมที่จะรับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ดังนั้น การพิจารณาถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องรวมถึงอันตรายที่มีต่อสมองของเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับสารพิษนิโคติน นอกเหนือจากอันตรายต่อสุขภาพกาย อย่างที่พบในผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในระยะที่นานขึ้น  ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ บุหรี่ไฟฟ้ามีขายเกลื่อน ทั้งที่วางขายตามที่ต่าง ๆ และออนไลน์ แสดงถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังทำกันอย่างเชื่องช้ามาก ขณะที่ฝ่ายธุรกิจและเครือข่ายก็ทำการตลาดพุ่งไปที่เด็กเล็กและวัยรุ่น มีการแทรกแซงนโยบายอย่างเปิดเผย ผ่าน สส. และกรรมาธิการในสภาฯ จึงมีคำถามว่า ทำไมสังคมไทยจึงไร้ความเอื้ออาทรต่อเด็กและเยาวชนของชาติได้ถึงขนาดนี้