กกต.ระบุเลือก ส.ว.ระดับอำเภอเป็นไปด้วยดี

2024-06-09 19:06:25

กกต.ระบุเลือก ส.ว.ระดับอำเภอเป็นไปด้วยดี

Advertisement

 เลขาธิการ กกต.ระบุเลือก ส.ว.ระดับอำเภอเป็นไปด้วยดี พบพิรุธฝากมือถือ แต่พกหูฟังบลูทูธ ไม่รอดเจ้าหน้าที่ดักจับ 

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67  ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวภายหลังจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอ ว่า ขณะนี้การเลือกทยอยปิดการเลือกประมาณ 15.00 น. สถานการณ์ในการเลือก ส.ว. ภาพรวม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี จะมีปัญหาอยู่บ้างเช่น 1. ผู้สมัครมารายงานตัวไม่ทันตามกำหนดเวลา 09.00 น. มีจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก 2. กรณีที่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ เข้าไปในพื้นที่เลือก ส.ว. ได้ แต่กลับพบว่ามีการนำหูฟังชนิดบลูทูธ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยพบ 1 กรณีในเขตพื้นที่ จ.นนทบุรี

3. กรณีมีผู้เจ็บป่วยกะทันหันที่อำเภอพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ระหว่างการลงคะแนนรอบที่ 2 ต้องออกนั่งพักนอกพื้นที่เลือก ซึ่งเมื่อแจ้งว่า กรณีออกจากพื้นที่ก็จะเสียสิทธิในการรับเลือก และลงคะแนน ผู้สมัครรายดังกล่าวก็เข้าใจ และ 4. ในพื้นที่ กทม.และรับแจ้งว่าไม่มีพื้นที่สังเกตการณ์หรือไม่มีกล้องวงจรปิดหน้าสถานที่เลือก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางพื้นที่สถานที่ต่างกันจึงจัดให้สังเกตการณ์ในอีกห้องหนึ่ง และถ่ายทอดผ่านกล้องวงจรปิด ซึ่งทุกพื้นที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าสามารถทำได้ในลักษณะใด

เลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า  เมื่อสถานที่เลือกแห่งใดดำเนินการเลือก ส.ว. เสร็จสิ้นแล้ว ผู้อำนวยการระดับอำเภอ จะประกาศผลการนับคะแนนหน้าสถานที่เลือกโดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของกลุ่มจะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอของกลุ่มนั้น เพื่อเข้าไปรับการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในวันที่ 10 มิ.ย. ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกในวันนี้ (9 มิ.ย.) ให้กับผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด และปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอและเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงาน และเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ตลอดจนแอปพลิเคชัน สมาร์ทโหวต และภายใน 3 วัน ผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัดจะจัดทำเอกสารแนะนำข้อมูลผู้สมัครส่งให้แต่ละกลุ่มเพื่อพิจารณาเลือก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการเลือกระดับอำเภอ ส่วนกรณีผู้สมัครเห็นว่า การดำเนินการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเลือกก็ให้ร้องคัดค้านที่ศาลฎีกาภายใน 3 วัน

นายแสวง กล่าวต่ออีกว่า ตนขอขอบคุณผู้สมัคร ส.ว.กว่า 40,000 คน ที่ให้ความร่วมมือในการเลือกครั้งนี้ ทั้ง 928 หน่วยเลือกตั้งด้วยดี และขอขอบคุณคณะกรรมการระดับอำเภอ และ ผอ.การเลือกระดับอำเภอ ทั้งสิ้น 6,496 คน คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก (กปล.) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งสิ้น 67,744 คน ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ 18,560 คน ซึ่งรวมผู้ปฏิบัติงานในการเลือกระดับอำเภอ รวมทั้งสิ้น 92,773 คน

ต่อข้อถามว่า ในกรณีที่ผู้สมัคร ส.ว. เห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายแสวง กล่าวว่า สามารถร้องคัดค้านได้ที่ศาลฎีกาภายใน 3 วัน แบ่งเป็น ร้องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ชั้นอำเภอต้องร้องที่ศาลฎีกา ซึ่งศาลต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อน 1 วันที่จะมีการเลือก, ร้องคัดค้านการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการเลือก 1 วัน ซึ่งศาลฎีกาก็จะพิจารณาก่อนการเลือกครั้งถัดไป 1 วัน และร้องคัดค้านการเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ต่อ กกต.กลาง ใน 3 วัน ซึ่ง กกต. ก็จะพิจารณาโดยเร็วโดยไม่มีกำหนดวัน  นั่นคือกฎหมายออกแบบให้ได้ ส.ว. ภายใน 200 วันให้ได้ 200 คนตามกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุที่จะไปหยุดดำเนินงาน

เมื่อถามต่ออีกว่า ผลลัพธ์คะแนนในพื้นที่เขตปทุมวัน ที่มีกระแสข่าวว่ามีกลุ่มเดียวกันไม่ใส่คะแนนให้ตนเองจะเข้าข่ายการฮั้วหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า การเลือกกันเอง ตามมาตรา 107 โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าเราสมัครให้คนอื่นเลือก แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) กำหนดให้ได้ทั้ง 2 อย่าง คือเลือกตัวเองและเลือกผู้อื่น ขึ้นอยู่กับกฎหมายออกแบบมาเพื่ออะไร เพราะการที่สามารถเลือกตัวเองได้นั้น เพราะตนเป็นหนึ่งในผู้สมัคร ก็ต้องมีสิทธิที่จะถูกเลือก และสามารถเลือกตัวเองได้ด้วย แต่การเลือกที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ในลักษณะดังกล่าวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง การฮั้ว การลงคะแนน หรือการดำเนินการอย่างไรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะเลือกตัวเองหรือเลือกเหมือนกันเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็เป็นสิทธิของเขาเหมือนกัน แต่พฤติกรรมเช่นนี้ ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการฮั้ว จึงต้องมีการตรวจสอบทางลับ

เมื่อถามต่อว่า มีกรณีที่ ส.ว. ท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตถึงการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอวันนี้ ว่าคนที่ตั้งใจไปสมัครเลือกกลับตกรอบ เพราะมีกลุ่มฮั้ว นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างมีข้อสันนิษฐาน เป็นเรื่องของความเห็น เพราะระบบกฎหมายในโลกใช้ความเห็นลงโทษคนไม่ได้ ต้องดูว่ากฎหมายเขียนว่าอย่างไร แล้วข้อเท็จจริงเข้ากับองค์ประกอบกฎหมายหรือไม่ 

ต่อข้อถามถึงการคาดการณ์ผู้ที่เข้ารอบไปในระดับจังหวัดจะมีกระบวนการหลังจากนี้อย่างไรบ้าง นายแสวง กล่าวว่า กระบวนการจะเหมือนกัน แต่ระดับจังหวัดจะไม่ลำบากเท่าระดับอำเภอ เพราะในระดับอำเภอจะมีกลุ่มที่ไม่ครบ 5 คน ซึ่งในหลายพื้นที่มีกลุ่มที่มี 1 คน จึงอยากอธิบายว่าเมื่อมาใช้สิทธิในรอบแรกแล้ว รอบต่อไปจะมีการเลือกแบบไขว้จะเป็นอย่างไร แต่ในระดับจังหวัดจะไม่มีการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะทุกกลุ่มกรองไปหมดแล้ว มองว่าจุดแตกหักอยู่ที่กลุ่มอำเภอ เมื่อไปเลือกในระดับจังหวัดจะมีครบทุกกลุ่มอาชีพ ก็จะเป็นไปตามระบบที่ตั้งไว้ ทำให้เลือกได้ง่าย ส่วนภาพรวมวันนี้ ตนมองว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายแสวง กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของการสังเกตการณ์ กกต. อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่กฎหมายกำหนดมาเพียงเท่านี้ ซึ่งหากจะแก้ไขก็ต้องไปปรับดูที่กฎหมายไม่ได้อยากให้มาดูที่เทคนิคการปฏิบัติของสำนักงาน เมื่อถามชว่า มีอะไรที่ไม่พอใจหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ขอให้อยู่ในใจของตน