นักวิจัยออสซี่พบ "กะโหลกนกยักษ์" สายพันธุ์ก่อนประวัติศาสตร์

2024-06-04 16:00:24

นักวิจัยออสซี่พบ "กะโหลกนกยักษ์" สายพันธุ์ก่อนประวัติศาสตร์

Advertisement

แคนเบอร์รา, 4 มิ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยของออสเตรเลียค้นพบกะโหลกของนกยักษ์สายพันธุ์หนึ่งที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 40,000 ปีก่อนในสภาพสมบูรณ์เป็นครั้งแรก บริเวณก้นทะเลสาบคัลลาบอนนาที่แห้งเหือด ซึ่งเป็นทะเลสาบตามฤดูกาลตั้งอยู่ห่างจากเมืองแอดิเลดไปทางเหนือกว่า 500 กิโลเมตร

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวันอังคาร (4 มิ.ย.) ระบุว่าทีมคณะนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย พบกะโหลกของนกจีไนออร์นิส นิวโทนี (Genyornis newtoni) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่แถบชนบทห่างไกลของออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้มีการพบกะโหลกของนกสายพันธุ์นี้มาแล้วเมื่อปี 1913 แต่ชิ้นส่วนที่พบนั้นเสียหายมากและมีกระดูกหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย

กะโหลกดังกล่าวทำให้คณะนักวิจัยสามารถสำรวจระบบนิเวศและวิวัฒนาการของนกจีไนออร์นิส นิวโทนี ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 45,000 ปีก่อน โดยคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่านกยักษ์ตัวนี้มีน้ำหนักราว 230 กิโลกรัม และมีกล่องสมอง ขากรรไกรล่าง และขากรรไกรบนขนาดใหญ่

ฟีบี แมคอิเนอร์นีย์ หัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่านกจีไนออร์นิส นิวโทนี มีขากรรไกรบนสูงและเคลื่อนไหวได้เหมือนกับนกแก้ว แต่มีรูปร่างเหมือนกับห่าน อ้าปากได้กว้าง มีแรงกัดรุนแรง และสามารถบดพืชและผลไม้เนื้อนุ่มด้วยเพดานปาก พร้อมเสริมว่าลักษณะกะโหลกของนกสายพันธุ์นี้คล้ายคลึงกับห่านสมัยใหม่และนกน้ำยุคแรก

แมคอิเนอร์นีย์ชี้ว่าความสัมพันธ์แท้จริงของนกจีไนออร์นิสภายในกลุ่มนกดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อน ทว่ากะโหลกใหม่ที่ค้นพบใหม่นี้ทำให้พวกเขาเริ่มปะติดปะต่อได้ว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้เป็นห่านยักษ์

ทั้งนี้ การวิจัยพบว่านกจีไนออร์นิส นิวโทนี มีการปรับตัวให้เข้ากับแหล่งอาศัยทางน้ำเพื่อช่วยให้สามารถปกป้องหูและคอจากการไหลเข้าของน้ำเมื่อหัวของมันจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งการปรับตัวนี้อาจเชื่อมโยงกับการสูญพันธุ์ของพวกมันเนื่องจากแหล่งน้ำทางตอนเหนือของรัฐเซาท์ออสเตรเลียที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นน้ำจืด ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบน้ำเค็มแล้ว