ปปง. โชว์ผลงาน 6 เดือน ดำเนินการกับทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน 12,160 ล้าน

2024-04-25 02:00:00

ปปง. โชว์ผลงาน 6 เดือน ดำเนินการกับทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน 12,160 ล้าน

Advertisement


ปปง. โชว์ผลงาน 6 เดือน ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานกว่า 12,160 ล้าน ตัดวงจรธุรกรรมบัญชีม้าเกือบ 400,000 บัญชี

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นายวิทยา นีติธรรม  ผอ.กองกฎหมายและ โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. พร้อมด้วยคณะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ได้แก่ นายพีรธร วิมลโลหการ ผอ.กองกำกับและตรวจสอบ น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผอกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน เม.ย.67 และผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน

นายเทพสุ กล่าวว่า สรุปผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน ( พ.ย.66 - เม.ย.67) มีการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมกว่า 12,160 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้ (1) ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 130 คำสั่ง จำนวน 121 คดี ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ตกเป็นของแผ่นดินรวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 6,713 ล้านบาท   (2) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจำนวน 39 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,447 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน

นายเทพสุ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและบัญชีม้า  ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC )   ได้รับเรื่องเพื่อประสานให้ระงับธุรกรรมกับธนาคาร 16 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 1 ต.ค.66 – 31 มี.ค.67) มีรายละเอียด ดังนี้ (1) บัญชีม้าที่ถูกอายัด จำนวน 140,819 บัญชี (2) จำนวนเงินที่ระงับธุรกรรมได้ จำนวน 4,034,777,117 บาท เนื่องจากระยะเวลาในการระงับธุรกรรมบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีเพียง 7 วัน หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่มีคำสั่งอายัดต่อโดยเจ้าหน้าที่ สถาบันการเงินและ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องยกเลิกการระงับการทำธุรกรรม ทำให้เจ้าของบัญชีสามารถนำบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปทำธุรกรรมต่อไปได้ จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ร้ายสามารถยักย้ายเงินออกจากบัญชีและสามารถนำบัญชีดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก  ดังนั้น เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าวสำนักงาน ปปง. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ การพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวัง อย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.66 เพื่อใช้เป็นกลไกในการจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมของเจ้าของบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและ บัญชีม้า

ประกาศดังกล่าวจำแนกบุคคลออกเป็น 2 บัญชี ได้แก่ บุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐานซึ่งพนักงานสอบสวนรับเป็นเลขคดีอาญาแล้ว (รหัส HR-03-1) และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทําความผิดมูลฐานซึ่งพนักงานสอบสวนยั งไม่รับเป็นเลขคดีอาญา (รหัส HR-03-2) และได้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคล ที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน (AMLO Person Screening System: APS) เพื่อให้ธนาคารใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารความเสี่ยง และจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลการกําหนดรายชื่อเสี่ยงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2566 (วันที่นํารายชื่อเข้าสู่ระบบ APS เป็นครั้งแรก) จนถึงวันที่ 10 เม.ย.67 (วันที่นํารายชื่อ เข้าสู่ระบบ APS ล่าสุด) มีบุคคลที่อยู่ใน บัญชีรายชื่อเสี่ยงแล้ว ดังนี้  (1) จํานวนรายชื่อประกาศ HR03-1 จํานวน 5,771 รายชื่อ จํานวนบัญชี ที่ธนาคารตรวจพบแล้วแจ้งกลับ 54,261 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 207,835,359.52 บาท (2) จํานวนรายชื่อประกาศ HR03-2 จํานวน 27,592 รายชื่อ จํานวนบัญชี ที่ธนาคารตรวจพบและแจ้งกลับ 270,346 หมายเลขบัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 716,156,014.71 บาท (3) ภาพรวมการกำหนดรายชื่อและจำนวนบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทาง การทำธุรกรรมแล้ว ดังนี้  ประกาศรายชื่อแล้วรวม 33,359 ราย  จำกัดช่องทางไม่ให้ทำทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 324,607 บัญชี มูลค่าเงินคงเหลือในบัญชีรวมทั้งสิ้น 923,991,374.23 บาท

นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างแก้ไขหลักเกณฑ์ตามประกาศสํานักงาน ปปง. เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณากําหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 เพื่อนำรายชื่อเจ้าของบัญชีที่ทําธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จากศูนย์ AOC ซึ่งถูกระงับธุรกรรมไว้ตามพระราชกำหนดฯ มาขึ้นบัญชีเป็น “บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง” (รหัส HR 03-1) ด้วย คาดว่าจะมีรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายหมื่นรายชื่อ และจะมีบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมอีกหลายแสนบัญชี อันเป็นการปัญหาเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำนักงาน ปปง. ได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดแนวทางในการเปิดบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะการสร้างเงื่อนไขในการเปิดบัญชีให้ยากขึ้นเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ เพื่อให้ลูกค้ามีบัญชีเท่าที่จำเป็น อันเป็นการยกระดับมาตรการรู้จักลูกค้า (KYC) ให้เข้มขึ้น ตั้งแต่ในชั้นการขอเปิดบัญชีและการขอเปิดบัญชีเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการเปิดบัญชีใหม่ให้มีความชัดเจนว่าจะนำไปใช้ทำธุรกรรมใด อันเป็นการป้องกันการรับจ้าง เปิดบัญชีม้า และเมื่อพบธุรกรรมต้องสงสัย สถาบันการเงินต้องพิจารณาระงับธุรกรรมนั้น ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 รวมทั้งให้รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยมายังสำนักงาน ปปง. โดยมาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการคู่ขนานกับกรณีที่ กสทช. ออกประกาศกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตนโดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งหากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในระยะเวลาที่กำหนด หมายเลขจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนการใช้เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์, บัญชีม้า และภัยจากออนไลน์ทุกรูปแบบที่ต้องผ่านการใช้ซิมโทรศัพท์จำนวนมาก ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงาน ปปง. ในฐานะหน่วยงานกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินจะดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการดังกล่าวตามกลไกของกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดต่อไป